มาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 11:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 3 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้มีมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอยู่บ้างแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ซึ่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ อันส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยดังกล่าว สมควรกำหนดให้มีมาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2553 เพิ่มเติม โดยมีมาตรการทางภาษีรวมอยู่ด้วย ต่อคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 แล้ว

2. มาตรการภาษีดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งกำหนดให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ที่จะต้องยื่นในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม โดยให้นำไปยื่นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

3. มาตรการภาษีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ และกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จะมีการออกประกาศของกรมสรรพากรเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในทางปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

กำหนดมาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ดังนี้

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้บริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น (ร่างพระราชกฤษฎีกา 1)

2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัย สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล และสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับการบริจาค การช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายที่ได้รับนอกเหนือจากกรณีการได้รับเงินชดเชย ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ (ร่างพระราชกฤษฎีกา 2)

3. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับจากบริษัทที่ประกอบกิจการประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2553 (ร่างพระราชกฤษฎีกา 3)

4. กำหนดให้เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) แห่งประมวลรัษฎากรของผู้ประสบอุทกภัยที่ได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เท่าจำนวนความเสียหาย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 (ร่างกฎกระทรวง)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ