คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการอ่าน และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า
1. กระทรวงการคลังได้พิจารณาการใช้มาตรการภาษีเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี (12 ตุลาคม 2553) แล้วเห็นว่า ปัจจุบันในส่วนของอากรศุลกากรจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0 อยู่แล้ว และหากมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าจะทำให้การนำเข้าเยื่อกระดาษที่ใช้ในการผลิตหนังสือไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่เยื่อกระดาษในประเทศที่แม้ว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน แต่ยังคงมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแฝงอยู่ในการผลิตเยื่อกระดาษ ส่งผลให้ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกันได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่านอยู่แล้วหลายมาตรการ รวมทั้งตามที่กระทรวงการคลังเสนอในครั้งนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการอ่านเพิ่มเติมจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่านที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
2. มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่าน ดังนี้
2.1 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีซื้อหนังสือและสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่านเพื่อบริจาคแก่สถานศึกษาของราชการและเอกชน และกรณีให้ห้องสมุดขององค์กร โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กรมสรรพากรจะมีการออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกันไปด้วย
2.2 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีซื้อหนังสือและสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่านเพื่อบริจาคแก่ห้องสมุดของเอกชนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ โดยสามารถดำเนินการได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง การกำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กันยายน 2535 ต่อไป
3. การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะเป็นการจูงใจให้ประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจเอกชนได้มี ส่วนร่วมในการซื้อหนังสือบริจาคให้แก่สถาบันการศึกษาของราชการและเอกชนเพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง และทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าถึงและเพิ่มนิสัยรักการอ่าน โดยมีผลให้การจัดเก็บภาษีลดลงเพียงเล็กน้อย แต่จะมีส่วนช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดหาหนังสือเข้าสู่ห้องสมุดหรือแหล่งหนังสืออื่น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2.1 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สิน เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่าเพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน สำหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--