นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 12:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเครื่องมือในการนำนโยบาย ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไป

2. เห็นชอบให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) บูรณาการคณะทำงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีหน้าที่

2.1 จัดทำกรอบแผนการดำเนินการ

2.2 กำหนดตัวชี้วัดและวิธีประเมินผลที่จำเป็นสำหรับการติดตามความสำเร็จของนโยบาย

2.3 เสนอองค์กรที่รับผิดชอบดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้างต้น

2.4 จัดทำรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามนโยบายฯ เพื่อให้ กทสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณะเป็นระยะๆ

3. ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประสานงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรกำกับดูแล เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า

1. กทสช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้พิจารณา (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 มีมติเห็นควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายบรอดแบนด์ภายใต้ กทสช. เพื่อจัดทำนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน ปลัดกระทรวงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธาน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยมอบหมายให้จัดทำนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาบรอดแบนด์ของประเทศ

2. คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยมีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยและต่างประเทศ และพิจารณาทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นพื้นฐาน ตลอดจนได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำนโยบายบรอดแบนด์ของประเทศ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน สรุปประเด็นสำคัญร่างนโยบายดังกล่าว ดังนี้

2.1 นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

2.1.1 ภาครัฐมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ อันถือเป็นบริการที่มีความสำคัญเทียบเท่าบริการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ทั่วถึง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ภายใต้การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

2.1.2 ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มที่

2.1.3 ในการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ รัฐจะบริหารจัดการทรัพย์สินด้านโทรคมนาคมที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วและอาจจะลงทุนเพิ่มเติม โดยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และรัฐจะไม่ผูกขาดที่จะเป็นผู้ลงทุนในการจัดให้มีบริการต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอื่นใดทุกรายที่พึงประสงค์และมีศักยภาพที่จะลงทุนเพื่อให้บริการ

2.1.4 รัฐจะส่งเสริมให้มีโครงสร้างและบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมส่วนปลายทางทั้งแบบใช้สายและไร้สาย ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ และผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

2.2 เป้าหมาย

2.2.1 พัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมประชากร ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2563 รวมทั้งให้มีบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ภายในปี 2563

2.2.2 ประชาชนสามารถได้รับบริการผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ ทั้งในด้านการศึกษาสาธารณสุข การเฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติและภัยธรรมชาติและบริการสาธารณะอื่นๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ โดย

(1) โรงเรียนในระดับตำบลสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพภายในปี 2558

(2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยทุกแห่งสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพเดียวกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือเทียบเท่าภายในปี 2558

(3) การให้บริการระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งภายในปี 2558

(4) มีระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยพิบัติภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉินผ่านโครงข่าย บรอดแบนด์ ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

2.2.3 ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงข่ายบรอดแบนด์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

2.2.4 ลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรโดยใช้การสื่อสารหรือเข้าถึงข้อมูลร่วมกันผ่านบริการบรอดแบนด์ ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งจะส่งผลในการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน

2.2.5 ลดต้นทุนการให้บริการบรอดแบนด์โดยรวมโดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อวงจรออกต่างประเทศและการนำบรอดแบนด์เข้าถึงผู้ใช้บริการเพื่อให้อัตราค่าใช้บริการบรอดแบนด์ลดต่ำลง

2.2.6 เกิดการพัฒนาเนื้อหาสาระ (Content) และโปรแกรมประยุกต์ (Application) ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การสาธารณสุข การป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ศาสนาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตประจำวัน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

2.2.7 ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงคุณค่าและความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เร่งตัวเร็วขึ้น

2.2.8 อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนา เกิดการขยายตัว และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไปสู่ระดับสากล

2.3 แนวทางการดำเนินการ เพื่อให้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติบรรลุเป้าหมาย จึงได้กำหนด แนวทางการดำเนินการ ดังนี้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการบรอดแบนด์ พัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์ ประกันความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่ายบรอดแบนด์และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม บริหารจัดการขับเคลื่อนนโยบายและการประสานการกำกับดูแล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ