รายงานผลการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาไก่ไข่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี

1. รับทราบผลการศึกษาปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย รับผลการศึกษาเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับคณะทำงานจากกระทรวงต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบราคาและต้นทุนการผลิต เพื่อหาแนวทางกำหนดราคาขายไข่ไก่ในระบบอย่างเป็นธรรมต่อไป

3. ให้กระทรวงพาณิชย์รับไปประสานกับผู้ประกอบการค้าไข่ไก่เพื่อขอความร่วมมือให้คงราคาไข่ไก่ในท้องตลาดเอาไว้เช่นเดิมต่อไปก่อน

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 กษ. โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยประสานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อดำเนินการศึกษา ปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 3 กันยายน 2553 เมื่อครบกำหนดประธานคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ได้ขอเลื่อนส่งผลการศึกษาออกไป เป็นวันที่ 14 กันยายน 2553 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอเลื่อนส่งผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553) ออกไปอีก 30 วัน เป็นวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ประธานคณะทำงานฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พร้อมขอนำไปปรับปรุงแก้ไข บัดนี้ผลการศึกษาได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้งบประมาณจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 594,000 บาท

2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงสร้าง บทบาท และผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ โดยมีผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้

2.1 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ยังจำเป็นต้องมีต่อไป เพราะเป็นองค์กรเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการไก่ไข่ของประเทศไทย

2.2 คณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ยังไม่เหมาะสม

2.3 ด้านอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงราคาไข่ไก่ยังขึ้นลงเป็นวัฏจักร การควบคุมปริมาณการนำเข้าไก่ไข่พ่อ — แม่พันธุ์ เห็นสมควรดำเนินการต่อไป เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อิสระรายกลางรายเล็ก และรายย่อยสมควรรวมตัวเป็นสถาบันเกษตรกรข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ไม่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนกลางทำให้ไม่สามารถกำหนดนโยบายเชิงรุก สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีองค์กรกำกับดูแลปริมาณการผลิตรักษาสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน ให้ความรู้เรื่องคุณภาพไข่ไก่ และส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่

2.4 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติ

1. คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์

  • การได้มาซึ่งกรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วิธีการได้มาของรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้ประกาศเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบและเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเน้นความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการดำเนินธุรกิจไก่ไข่และผลิตภัณฑ์
  • การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ควรคำนึงกรอบและดำเนินการให้ครบตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในระเบียบ

2. คณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์

  • องค์ประกอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ให้มีเฉพาะเกษตรกรและภาคเอกชนเท่านั้น ไม่มีหน่วยราชการ ยกเว้นอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน
  • การทำหน้าที่ให้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ตามระเบียบระบุไว้ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องต่างๆ

2.5 ข้อเสนอเชิงนโยบาย การแก้ปัญหาการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องทำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ 3 ประการ คือ เสถียรภาพราคาไข่ไก่ สร้างความมั่นคงให้อาชีพเกษตรกร และให้ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี จึงเห็นควรมีแผน 3 ระยะ ดังนี้

แผนระยะสั้น

(1) ให้มีอนุกรรมการกลั่นกรองที่มีประสิทธิภาพและเป็นกลางเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงาน ศึกษา วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์พิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

(2) มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์เป็นมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ

(3) เนื่องจากปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีให้มีการนำเข้าไก่ไข่พ่อ — แม่พันธ์ (P.S) โดยเสรี ซึ่งอาจส่งผลกระทบปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินความต้องการบริโภคในอีก 13 เดือน ข้างหน้า และในอนาคตต่อๆ ไป จึงควรมีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยกำหนดโควตาการนำเข้าไก่ไข่พ่อ — แม่พันธุ์ และให้มีการกระจายลูกไก่ไข่ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงและ เป็นธรรม

(4) เพื่อให้เกษตรกรอิสระสามารถประกอบอาชีพให้ธุรกิจนี้อย่างมั่นคงภายใต้ระบบโควตา จึงควรมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อิสระสามารถซื้อลูกไก่ไข่เลี้ยงเป็นไก่ไข่สาวได้เอง มีอิสระในการผสมอาหารสัตว์ใช้เอง

(5) การนำเข้าไก่ไข่ปู่ — ย่าพันธุ์ (G.P) ต้องมีมาตรการควบคุมทุกด้านอย่างเข้มงวด

(6) ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อิสระรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกร

(7) ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกร และสมาชิกสถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อย่างทั่วถึง

(8) ควรเร่งรัดให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลปริมาณไข่ไก่ ราคาและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ สามารถสรุปและประเมินปริมาณการกระจายตัวการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศให้เป็นปัจจุบัน

(9) ควรมีมาตรการหยุดยั้งหรือควบคุมการเพิ่มขึ้น และการขยายฟาร์มของผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่เพื่อป้องกันการผูกขาด

(10) กำหนดการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่เป็นวาระแห่งชาติ

(11) ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์

แผนระยะกลาง

(1) พัฒนาสถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้ทำธุรกิจครอบคลุมด้านผลิตและตลาด

(2) พัฒนาระบบเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์

(3) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาแปรรูปไข่ไก่เพื่อเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดส่งออก

(4) ส่งเสริมและสนับสนุนขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่

แผนระยะยาว

(1) พัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไข่ไก่ในประเทศไทยให้ผู้ผลิตทุกระดับอยู่ร่วมกันได้ และการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้าโลก

(2) กำหนดการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการสร้างสายพันธุ์ไก่ไข่ทางการค้า เป็นวาระแห่งชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ