โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 14:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนบูรณาการการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียม และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและกำกับการจัดสร้างปะการังเทียมติดตามการดำเนินงานตามแผนบูรณาการฯ ต่อไป

2. รับทราบสถานการณ์ความเสื่อมโทรมในระดับวิกฤตของแนวปะการังอันเกิดจากการใช้ประโยชน์อย่างไม่ยั่งยืนและปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแนวปะการังในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วนและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวและผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนบูรณาการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยการสร้างปะการังเทียม นั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอเพิ่มเติม ว่า เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณ และบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ส่วนค่าใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้คณะกรรมการอำนวยการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล รายงานว่า

1. คณะกรรมการอำนวยการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2553 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียมและให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณการจัดสร้าง ปะการังเทียม เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ซึ่งประธานกรรมการอำนวยการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลได้ ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและผู้แทนกรมประมงเป็นฝ่ายเลขานุการ

2. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันพุธที่ 24 มีนาคม 2553 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนบูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอและให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

3. คณะกรรมการอำนวยการฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2553 วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2553 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) เป็นประธานที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแผนบูรณาการการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียม และเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำกับการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้นมาดำเนินการ เพื่อให้การจัดสร้างปะการังเทียมตามแผนบูรณาการการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วในการดำเนินงานทั้งด้านการพิจารณากำหนดรายละเอียดพื้นที่ การขออนุญาตและการติดตามประเมินผล ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาฯ นำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอำนวยการฯ ไปปรับแก้ไขให้แผนบูรณาการการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียมมีความพร้อมสมบูรณ์เพื่อนำเสนอประธานกรรมการคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป

4. คณะอนุกรรมการพิจารณาและกำกับการจัดสร้างปะการังเทียม ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงแผนบูรณาการการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียม นอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานโดยให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งติดตามการดำเนินงานตามแผนบูรณาการฯ พร้อมทั้งจัดทำรายงานความคืบหน้าเสนอคณะกรรมการอำนวยการฯ ทุก 6 เดือน และได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดโครงการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณารายละเอียดโครงการจัดสร้างปะการังเทียมให้ความเห็นชอบพื้นที่การจัดสร้างปะการังเทียม รวมทั้งจัดทำคู่มือการจัดสร้างปะการังเทียมอีกด้วย

5. คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำ ข้อมูลฐานของสถานภาพแนวปะการังรวมทั้งแผนการบริหารจัดการแนวปะการังธรรมชาติควบคู่ไปกับการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อให้การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6. ในกรณีของการฟื้นฟูทรัพยากรปะการังธรรมชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สำรวจและ ติดตามสถานภาพทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการและได้จัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรปะการังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ระบุแนวปะการังที่อยู่ในสภาวะวิกฤตต้องทำการฟื้นฟูโดยเร่งด่วน ประกอบด้วย แนวปะการังบริเวณ เกาะเต่า เกาะพงัน เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เกาะล้าน เกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต เกาะยาวน้อย — ยาวใหญ่ จังหวัดพังงา และเกาะพีพี จังหวัดกระบี่

7. การสำรวจสถานภาพแนวปะการังล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม — กรกฎาคม 2553 พบว่าแนวปะการังของประเทศไทยอยู่ในสภาวะวิกฤต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างผิดปกติ โดยพบว่ามีสัดส่วนปะการังฟอกขาวบริเวณอ่าวไทย ร้อยละ 70 และบริเวณฝั่งอันดามัน ร้อยละ 90 ซึ่งเริ่มมีการตายแล้ว ร้อยละ 5-40 โดยหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ปะการังจะตายอย่างต่อเนื่องและจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล รวมทั้งกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์ในแนวปะการังทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การท่องเที่ยวและการประมงอย่างรุนแรง

8. คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถึงความห่วงใยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล และเพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาศัยให้แก่สัตว์น้ำชายฝั่ง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความเสื่อมโทรมของทะเลไทย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวไม่ให้ส่งผลกระทบ ต่อศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการประมงของประเทศไทย จึงได้จัดทำแผนบูรณาการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยการสร้างปะการังเทียม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

หลักการและเหตุผล

หลักการสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการสร้างปะการังเทียม คือตระหนักว่าปะการังเทียมเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือ / แนวทาง ในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลการนำปะการังเทียมมาใช้ต้องเป็นกรณีที่พิจารณาตามหลักวิชาการแล้วว่า เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงเนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

ความเชื่อมโยงกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2540-2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อ รักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถฟื้นสภาพได้ ให้มีศักยภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งสงวนรักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกระจายอำนาจหน้าที่ไปสู่จังหวัดและท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์โดยการใช้ปะการังเทียมเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูโดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านวิชาการ การใช้ประโยชน์และการมีส่วนร่วมของชุมชน

พันธกิจ

1. รวบรวมองค์ความรู้ด้านปะการังเทียม ประเมินผลสำเร็จและจัดทำฐานข้อมูลด้านปะการังเทียม

2. จัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

3. ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล

4. ปรับปรุงแนวทางการจัดทำปะการังเทียมและการขออนุญาตให้มีประสิทธิภาพ

เป้าหมายหลัก

มีการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในทะเล ปริมาณสัตว์น้ำ และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเล (Artificial habitat) - ให้สัตว์น้ำเข้ามาหลบภัยอยู่อาศัย แพร่ขยายพันธุ์ เป็นแหล่งทำการประมงและเพิ่มผลผลิตของสัตว์น้ำออกไปนอกปะการังเทียมอีกด้วย

2. เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ (Rehabilitation of coral reef) — ให้ตัวอ่อนปะการังมายึดเกาะเจริญเติบโต พัฒนาเป็นแนวปะการังธรรมชาติในที่สุด

3. เพื่อป้องกันระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญจากอวนลาก อวนรุน (Habitat protection) — ใช้กีดขวางแนวการทำประมงอวนรุนและอวนลาก ไม่ให้เข้ามาทำลายแหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังในพื้นที่อนุรักษ์

4. เพื่อเป็นแหล่งดำน้ำ (Artificial diving site) — เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวดำน้ำ และลดแรงกดดันจากนักดำน้ำต่อแนวปะการังธรรมชาติ

5. เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (Coastal protection) — ลดความแรงของคลื่นและกระแสน้ำ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มอัตราการสะสมตัวของแนวชายหาด

กลยุทธ์ มีดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างองค์ความรู้ด้านปะการังเทียม

กลยุทธ์ที่ 2 จัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล

กลยุทธ์ที่ 3 จัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการประมง

กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาการปรับปรุงขออนุญาตการดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียม

ระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ