คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลังรายงานผลการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาลใน ไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 พร้อมกับลงประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับผลการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 3 ฉบับ ในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า
1. กระทรวงการคลังมีวงเงินตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารและจัดการหนี้ ณ ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 281,000 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในเดือนตุลาคม 2552 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วจำนวน 23,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 3 รุ่น ทำให้คงเหลือวงเงินตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารเงินสดรับ — เงินสดจ่าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 258,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นวงเงินที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สะสมมาจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 178,000 ล้านบาท และส่วนที่ 2 เป็นวงเงินที่ได้ขออนุมัติเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เพื่อนำมาใช้ในการบริหารเงินสดของรัฐบาลจำนวน 80,000 ล้านบาท
2. ในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กระทรวงการคลังได้กำหนดแผนการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาลจำนวนรวม 104,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้จำนวน 7 รุ่น โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียด ดังนี้
2.1 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 4 (LB196A) อายุคงเหลือ 8.90 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.875 ต่อปี จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ Re-open พันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 ครั้งที่ 13 อายุ 10.05 ปี ทำให้ปริมาณพันธบัตรรุ่นดังกล่าวมีจำนวน 102,740 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 และวันที่ 22 กันยายน 2553 งวดละ 15,000 ล้านบาท
2.2 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 5 (LB296A) อายุคงเหลือ 18.91 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 ต่อปี จำนวน 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ Re-open พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 2 อายุ 19.60 ปี ทำให้ปริมาณพันธบัตรรุ่นดังกล่าวมีจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 จำนวน 11,000 ล้านบาท และวันที่ 15 กันยายน 2553 จำนวน 10,000 ล้านบาท
2.3 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 6 (LB15DA) อายุ 5.32 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.125 ต่อปี จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 10 สิงหาคม 2553
2.4 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 7 (LB24DA) อายุคงเหลือ 14.35 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี จำนวน 11,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ Re-open พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 3 อายุ 15.15 ปี ทำให้ปริมาณพันธบัตรรุ่นดังกล่าวมีจำนวน 47,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายใน วันที่ 18 สิงหาคม 2553
2.5 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 8 (LB406A) อายุคงเหลือ 29.86 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ Re-open พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 2 อายุ 30.70 ปี ทำให้ปริมาณพันธบัตรรุ่นดังกล่าวมีจำนวน 20,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 18 สิงหาคม 2553
2.6 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 (LB147A) อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 6 เดือน — ร้อยละ 0.15 ต่อปี จำนวน 9,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 สำหรับอัตราดอกเบี้ยงวดเริ่มต้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.63875 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 6 เดือน ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2553 เท่ากับร้อยละ 1.78875 ต่อปี)
2.7 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 2 (LB149A) อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 6 เดือน — ร้อยละ 0.15 ต่อปี จำนวน 8,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายในวันที่ 22 กันยายน 2553 สำหรับอัตราดอกเบี้ยงวดเริ่มต้นวันที่ 24 กันยายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.84875 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 6 เดือน ณ วันที่ 20 กันยายน 2553 เท่ากับร้อยละ 1.99875 ต่อปี)
อนึ่ง กระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผลการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 จำหน่ายเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2553 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผลการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 จำหน่ายเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2553 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
3. การจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 4
ตามข้อ 2.1 จำนวน 30,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ได้มีการปรับลดวงเงินการจำหน่ายจากจำนวน 30,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 27,254 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้เข้าประมูลไม่ครบวงเงินตามที่ประกาศไว้ จำนวน 2,746 ล้านบาท ประกอบกับมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำวงเงินคงเหลือดังกล่าวไปประมูลหรือออกตราสารหนี้อื่นๆ เพื่อนำเงินมาทดแทนตั๋วเงินคลังได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 จึงอนุมัติให้ใช้เงินคงคลัง จำนวน 2,746 ล้านบาท ไปไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง สำหรับการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 5 และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 2 ตามข้อ 2.2 และ 2.7 ได้ดำเนินการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 15 และ 22 กันยายน 2553 ตามลำดับ
4. ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 104,000 ล้านบาท แล้ว ทำให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กระทรวงการคลังมีวงเงินตั๋วเงินคลังรวมทั้งสิ้นจำนวน 154,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ตั๋วเงินคลังเพื่อการบริหารเงินสดรับ - จ่ายของรัฐบาล จำนวน 80,000 ล้านบาท และตั๋วเงินคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สะสมมาจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 74,000 ล้านบาท
5. เพื่ออนุวัติตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กระทรวงการคลังจะต้องประกาศผลการกู้เงินในราชกิจจานุเบกษาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญากู้หรือออกตราสารหนี้ ซึ่งการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 4 (ได้ดำเนินการจำหน่ายเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553) ครั้งที่ 5 (ได้ดำเนินการจำหน่ายเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553) และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 2 (ได้ดำเนินการจำหน่ายเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553) กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับผลการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 3 ฉบับ และขอให้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--