การซักซ้อมหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการซักซ้อมหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. มติ ครม.

ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 อนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 2 กรณี

1) ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยจากกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ในที่ปลอดภัยได้

2) ผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน

2. หลักเกณฑ์

หลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จะพิจารณาจ่ายให้ครัวเรือนที่อยู่อาศัยใน 4 กรณี ดังนี้ 1. บ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน 2. บ้านพักอาศัยที่ไม่มีทะเบียนบ้าน 3. บ้านเช่า 4. อื่น ๆ เช่น ที่พักอาศัยที่ประสบภัยพิบัติ นอกเหนือจากจากข้อ 1-3

3. หลักฐาน

หลักฐานการแสดงสิทธิ์ขอรับการช่วยเหลือ 1. กรณีบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน 2. กรณีบ้านพักอาศัยที่ไม่มีทะเบียนบ้าน ใช้หนังสือรับรองโดยผู้ปกครองท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกเทศมนตรี นายก อบต.) 3. กรณีบ้านเช่า ใช้สัญญาเช่า/หนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4. กรณีอื่น ๆ เช่น ที่พักอาศัยที่ประสบภัยพิบัติ ตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 ให้ใช้หนังสือรับรองโดยผู้ปกครองท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกเทศมนตรี นายก อบต.) 5. ทุกกรณีให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบและรับรอง

4. ขั้นตอนการดำเนินการ

1) ให้จังหวัดจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่อำเภอ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนเริ่มดำเนินการ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะสั่งการแนวทางปฏิบัติในรายละเอียดต่อไป

2) ให้จังหวัด/อำเภอประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสำรวจข้อมูลรายละเอียด ของผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือตามมติ ครม. โดยจัดการพิมพ์รายชื่อหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้รับเงินพร้อมเลขประจำตัว 13 หลัก ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด

3) อำเภอตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดตามข้อ 2. แล้วลงนามรับรองความถูกต้องส่งให้สำนักงาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นรายตำบล

4) กรณีไม่มีบ้านเลขที่หรือกรณีอื่น ๆ ให้จัดพิมพ์รายชื่อหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้รับเงิน เช่นเดียวกัน พร้อมกับคำรับรองของผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ปกครองท้องถิ่น

5) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วนำเสนอ ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามรับรองว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. ในหนังสือนำส่งถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมกับส่งข้อมูลรายละเอียดตามข้อ 3. ทาง E-mail Address : relief2553@gmail.com คือ

(1) File Scan หนังสือนำส่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม

(2) ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือให้ดำเนินการจัดส่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 2.1 รูปแบบ Excel File (เพื่อจัดรูปแบบรายชื่อ ส่งให้ธนาคารออมสินและสำนักงบประมาณดำเนินการต่อไป) 2.2 รูปแบบ PDF File (เพื่อตรวจสอบกับต้นฉบับ ป้องกันการแก้ไขข้อมูล)

ทั้งนี้ ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดส่งข้อมูลตาม (1) และ (2) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 และเอกสารตัวจริงส่งถึง ปภ.ภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 และเก็บรักษาต้นฉบับข้อมูลรายละเอียดที่ได้รับจากอำเภอเพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ

6) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากจังหวัด แล้วส่งให้ธนาคารออมสินและสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการต่อไป

5. การจ่ายเงินของธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสินจะทำการจ่ายเงิน ณ ที่ทำการสาขา และจัดหน่วยเคลื่อนที่เพื่อไปจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์ โดยผู้รับเงินจะต้องนำเอกสารไปแสดง ดังนี้

1) กรณีมารับด้วยตนเอง ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่จ่ายเงิน และให้ลงลายมือชื่อรับเงินต่อหน้าเจ้าหน้าที่และให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินลงลายมือชื่อผู้จ่ายเงิน ประกอบกันด้วย

2) กรณีไม่สามารถรับเงินได้ด้วยตนเอง ให้มี หนังสือมอบฉันทะ (ผู้รับมอบฉันทะสามารถรับมอบได้เพียงรายเดียวและครั้งเดียวเท่านั้น และไม่สามารถมอบฉันทะต่อได้) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มอบและผู้รับมอบฉันทะกรณีบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย ให้ขอสำเนารายการบัตรประจำตัวประชาชนที่สำนักทะเบียนทุกแห่ง เพื่อใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน หรือใช้หลักฐานการแจ้งความกรณีบัตรประจำตัวสูญหายมาแสดงได้

หากผู้มีสิทธิไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือได้ในวันที่กำหนด ให้ยื่นขอรับเงินได้ ณ ที่ทำการธนาคารออมสินทุกสาขาในวันและเวลาเปิดทำการ

6. แนวทางการปฏิบัติงานของจังหวัด

1) เร่งรัดการสำรวจ ตรวจสอบ ส่งรายชื่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อตรวจสอบส่งให้ธนาคารออมสิน โดยด่วนที่สุด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยให้ทยอยส่งเป็นรายตำบล ที่มีจำนวนครบถ้วน สมบูรณ์พร้อมที่จ่ายเงินได้

2) ให้ประชุมหารือร่วมกับธนาคารออมสินสาขาจังหวัด และตำรวจภูธรจังหวัด ในการกำหนดแผนการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยให้รวดเร็ว ทั่วถึง และรักษาความปลอดภัย โดยเน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด โดยจัดส่งแผนดังกล่าวให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย

3) ให้เตรียมการกรณีราษฎรไม่มีรายชื่อในการรับเงินร้องเรียน พร้อมกับหาวิธีการพิสูจน์สิทธิ์ไว้ให้พร้อม

4) ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ หรือคณะทำงานขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่มีปัญหาในการรับเงิน หรือร้องเรียนการไม่มีรายชื่อหรือกรณีอื่น ๆ โดยให้พยายามแก้ไขปัญหาให้ ผู้ประสบภัยให้มากที่สุด

5) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับดูแล พร้อม แก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้ง ชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับทราบและเข้าใจในเจตนา การช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ