รายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 2/2553 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1. กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์การเกิดอุทกภัย และผลกระทบต่อสถานประกอบการและลูกจ้างในทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ปรากฏว่า ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 มี 23 จังหวัด และ 2 เขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งหมด 2,030 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 156,743 คน จำแนกเป็น

(1) สถานประกอบการและลูกจ้างที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 2,030 แห่ง ลูกจ้าง 121,622 คน

(2) สถานประกอบการที่ไม่ประสบภัยแต่ลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้ จำนวน 466 แห่ง ลูกจ้าง 35,121 คน

2. ผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่างๆ สรุปได้ดังนี้

1) สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค “แรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ณ บริเวณด้านหน้าศูนย์บริการประชาชนกระทรวงแรงงาน ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน สำหรับในส่วนภูมิภาคได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยประจำจังหวัด ณ สำนักงานแรงงานจังหวัด เพื่อขอรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และรับบริจาคเงินผ่านบัญชี “แรงงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงาน เลขที่บัญชี 383 0 11134 7 หมายเลขโทรศัพท์ สายด่วน 1506

2) จัดกิจกรรมคาราวานฟื้นฟูผู้ประสบภัย กระทรวงแรงงาน "ถึงที่ ถึงใจ เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดตามภารกิจของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้กิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น มอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย กิจกรรมซ่อมแซม บ้านเรือน ยานพาหนะ เครื่องจักรการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กิจกรรมจัดบริการสาธิตการประกอบอาชีพอิสระ บริการจัดหางานโดยรถโมบายบริการจัดหางานเคลื่อนที่ รับขึ้นทะเบียน/รับรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน และกิจกรรมให้คำปรึกษาลูกจ้าง/นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบ

3) สำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศ เรื่อง ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนของสถานประกอบกิจการที่ประสบอุทกภัย โดยขณะนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยยื่นความประสงค์ขอเลื่อนกำหนดเวลาต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว 22 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 771 คน นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีโครงการ “ประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย” โดยประมาณการวงเงินให้กู้ยืมไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยประมาณ 200,000 คน กู้เพื่อนำไปซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัยของครอบครัว รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ตามเงื่อนไขของธนาคารที่มีการลงนามทำ MOU ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ขอความร่วมมือธนาคารให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดและเร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอของธนาคาร

4) กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยส่งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม — 3 พฤศจิกายน 2553 ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชน ภายใต้กิจกรรมต่างๆ จำนวน 10,156 ราย ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ จำนวน6,822 ชิ้น จำแนกเป็น (1) ช่วยเหลือในการอพยพย้ายสิ่งของ 285 ราย (2) แจกจ่ายถุงยังชีพ 3,050 ราย (3) ซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ 2,069 คัน (4) ซ่อมแซมเครื่องยนต์ทางการเกษตร 242 เครื่อง (5) ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ 4,511 ชิ้น รวมทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูล เพื่อจัดฝึกอาชีพ พัฒนาฝีมือ และศักยภาพในการทำงานตามความต้องการของผู้ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด

5) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถานประกอบการช่วยเหลือลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และสั่งการให้จังหวัดสำรวจสถานประกอบการและลูกจ้างผู้ประสบอุทกภัย เพื่อทราบความเดือดร้อน ความต้องการความช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาด้านแรงงาน ตลอดจนขอรับบริจาคเงินและสิ่งของจากสถานประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อนำไปร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกิจกรรมคาราวานฟื้นฟูผู้ประสบภัยกระทรวงแรงงาน

6) กรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 โดยสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดในภูมิภาคให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามกรอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกรมการจัดหางาน โดยได้กำหนดการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

(1) ระหว่างเกิดอุทกภัย ดำเนินการประสานข้อมูลผู้ประสบอุทกภัยเพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมการจัดหางานที่จะให้ความช่วยเหลือภายหลังน้ำลด ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ และจัดหาตำแหน่งงานว่าง

(2) ระยะหลังเกิดภัย (น้ำลด) เข้าไปติดตามความต้องการของผู้ประสบภัย และดำเนินการโครงการต่างๆ ภายใต้งบปกติ เช่น โครงการแนะแนวอาชีพระดับหมู่บ้าน โครงการมีงานทำนำชุมชนเข้มแข็ง โครงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ โครงการนัดพบแรงงานโครงการสร้างอาชีพใหม่ให้คนว่างงาน เป็นต้น

3. กระทรวงแรงงานได้กำหนดแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดตาม “โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554” โดยการจ้างให้ทำงานต่างๆ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานนอกออกพื้นที่ แต่เนื่องจากอุทกภัยครั้งนี้มีพื้นที่และประชาชนได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนจำนวนมาก ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้ปรับแผนงบประมาณปกติดที่ได้รับจัดสรรแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติม โดยกำหนดเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 138,700 คน ประมาณการค่าใช้จ่ายต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นเงิน 406,759,600 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ