การเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Working Visit)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Working Visit) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 14 - 15 กันยายน 2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Working Visit) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 14 - 15 กันยายน 2553 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สรุปผลการเยือนดังกล่าว ดังนี้

1. การเข้าพบหารือกับบุคคลระดับสูงของ สปป.ลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สปป.ลาว และหารือข้อราชการกับนายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว (บันทึกการหารือปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 และ 3 ตามลำดับ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.1 ความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Connectivity) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำว่าประเด็นนี้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาไม่ควรจำกัดเพียงเฉพาะด้านกายภาพ (hardware) แต่ควรเร่งอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งผ่านแดน (cross border facilitation) ด้วย ตั้งแต่การตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และการกักพืช/สัตว์ โดยจะต้องประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ สปป.ลาว แจ้งว่าจะมอบหมายให้กระทรวงการคมนาคมและกระทรวงป้องกันความสงบของ สปป.ลาว พิจารณาแนวทางปรับปรุงการอำนวยความสะดวก โดยอาจเริ่มจากด่านหนองคาย - ท่านาแล้ง

1.2 ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งความเห็นต่อฝ่ายลาวว่า ไม่ควรนำอดีตมาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ปัจจุบัน และเสนอให้จัดการประชุมนักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อชำระประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งและให้เกิดการเรียนรู้ตามความเป็นจริงและในประเด็นที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันและส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ สปป.ลาว สนับสนุนและเสนอให้หารือแนวทางความร่วมมือกันต่อไป

1.3 กิจกรรมครบรอบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแจ้งความเห็นว่า ความสัมพันธ์ไทย - ลาว ดำเนินมายาวนานนับพันปี แต่ครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกัน การประชุมสองฝ่ายระดับสูง อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - ลาว หรือการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย - ลาว น่าจะเปิดโอกาสให้สองฝ่ายกระชับและหารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ในระยะต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ สปป.ลาว เห็นว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมฯ คงต้องขึ้นอยู่กับกำหนดการของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว แต่สำหรับการประชุม JC ตนยินดีเข้าร่วม (ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 14 - 15 ตุลาคม 2553 กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ครั้งที่ 16 ขึ้นเรียบร้อยแล้ว)

1.4 พิธีเฉลิมฉลองการเปิดเขื่อนน้ำเทิน 2 รองนายกรัฐมนตรีฯ สปป.ลาว แจ้งว่า รัฐบาลลาวขอเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเปิดเขื่อนน้ำเทิน 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ฯ

1.5 เขตแดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติ ควรจัดการประชุมนอกรอบเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ หรือความร่วมมือในภูมิภาค โดยให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ โดยใช้หลักการประนีประนอมควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ สปป.ลาว เห็นว่าสองฝ่ายควรปรึกษากันอย่างตรงไปตรงมา และอาจดำเนินการในส่วนที่ตกลงกันได้ก่อน อย่างไรก็ดี ฝ่ายลาวจะต้องขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาล สภาแห่งชาติ และภาคประชาชน ด้วยเช่นกัน

1.6 ความร่วมมือระดับประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน อาทิ (1) โครงการอาสาสมัครไทยไปร่วมพัฒนา สปป.ลาว ในด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และเกษตรกรรม (2) กิจกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชน และ (3) ความร่วมมือด้านสตรีและเด็ก ซึ่งฝ่ายลาวรับทราบ และขอรับโครงการอาสาสมัครฯ ไว้พิจารณาต่อไป

1.7 การลงทุนใน สปป.ลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันท่าทีของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยใน สปป.ลาว มีความรับผิดชอบและตอบแทนสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) อาทิ การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของพนักงาน การพัฒนาชุมชนที่โรงงานตั้งอยู่เพื่อเป็นพื้นฐานของการลงทุนใน สปป.ลาว อย่างยั่งยืนต่อไป

1.8 กลไกความร่วมมือภาคเอกชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีกลไกปรึกษาหารือผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อเป็นเวทีพูดคุยกรณีที่เกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางธุรกิจก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาล โดยอาจเริ่มจากการจัดตั้ง Business Forum เช่นเดียวกับที่ สปป.ลาว มีอยู่แล้วกับญี่ปุ่นและเวียดนาม หรือการประชุมร่วมกับสภาการค้าและอุตสาหกรรมประจำปี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และนำผลเสนอรัฐบาลหรือที่ประชุม JC ต่อไป ซึ่งฝ่ายลาวรับทราบ

1.9 สถานการณ์ในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา โดยยึดมั่นในกรอบของกฎหมายและรักษาสิทธิของพลเมือง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างการเมืองของไทยยังมีส่วนที่มั่นคง ต่อเนื่อง กอปรกับสังคมยังมีเสถียรภาพและพัฒนาการเชิงบวก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เสนอกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองของไทยกับ สปป.ลาว อาทิ การแลกเปลี่ยนบุคลากร

2. การติดตามและส่งเสริมความร่วมมือไทย - ลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบความช่วยเหลือแก่ฝ่ายลาวภายใต้โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศรวม 7 โครงการ ได้แก่

2.1 การพัฒนาอาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและเสริมสร้างเครือข่ายด้านสาธารณสุขระหว่างแขวงบ่อแก้วกับจังหวัดเชียงราย

2.2 การปรับปรุงระบบไฟฟ้าและประปาของโรงเรียนมัธยมสงฆ์ วัดพระธาตุจอมเขามะนีลัด แขวงบ่อแก้ว เพื่อสานต่อโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานทุนทรัพย์เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี 2546

2.3 การปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียนเทคนิค - วิชาชีพสะหวันนะเขต ภายใต้โครงการโรงเรียน “เพื่อนมิตร” ประจำปี 2553 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนในแขวงชายแดนลาว - ไทย โครงการในปีนี้ยังช่วยตอบสนองความต้องการแรงงานของนักลงทุนไทยใน สปป.ลาว ด้วย

2.4 การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวม้งลาวที่หมู่บ้านโพนคำ เพื่อสานต่อโครงการที่ได้ดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2552 และแสดงถึงความใส่ใจของรัฐบาลไทยต่อชาวม้งลาวที่ถูกส่งกลับสู่ สปป.ลาว ซึ่งลักษณะการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวสอดคล้องกับความประสงค์ของลาวและจะมีส่วนช่วยให้ประเทศและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

2.5 การจัดตั้งมุมหนังสือที่ระลึก 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย — ลาว ณ ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

2.6 การมอบเตียงนอนและอุปกรณ์สำหรับอาคารหอพักและศูนย์ฝึกอบรมศูนย์ให้คำปรึกษาและปกป้องแม่หญิงและเด็กน้อย สหพันธ์แม่หญิง สปป.ลาว เพื่อต่อยอดความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยที่ได้ให้การก่อสร้างศูนย์ดังกล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น องค์กรดังกล่าวเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

2.7 การติดตั้งไฟส่องทางจากสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นของขวัญจากรัฐบาลไทยเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 450 ปีของการสถาปนานครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ลาว

3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคเอกชนไทย - ลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมและรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจไทยที่เข้าไปประกอบธุรกิจในลาว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อรับฟังปัญหาและหารือแนวทางสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยมีนักธุรกิจลาวเข้าร่วมด้วย ประเด็นหลักที่ได้หารือ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมตอบแทนต่อสังคม (CSR) โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ การจัดตั้งกลไกแก้ไขข้อพิพาทของนักธุรกิจ ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนใหม่และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่านักลงทุนไทยมีศักยภาพเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว โดยอาศัยความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะสาขาพลังงานและเหมืองแร่ เช่น การวางสายส่งกระแสไฟฟ้าจากลาวไปยังเวียดนาม การก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งออกน้ำมัน สาขาการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง/Logistics และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไทย - ลาว ซึ่งรวมถึงกิจการโรงแรม สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถ ตลอดจนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ เช่น GSP ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และส่งออกสินค้าระดับกลางไปยังตลาดเวียดนามอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อสังเกต

1. การเยือนครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการพบปะกันอย่างต่อเนื่องและเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับ สปป.ลาว ทั้งกับผู้บริหารประเทศ ส่วนราชการ และภาคประชาชน หลังจากการเยือน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กอปรกับความร่วมมือต่างๆ ที่ฝ่ายไทยมอบให้ระหว่างการเยือนฯ จัดได้ว่าเป็นโครงการในสาขาที่ สปป.ลาว กำลังให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนลาวโดยตรงและอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7 ระหว่างปี 2554 - 2558) ของ สปป.ลาว ด้วย

2. มีการคาดกันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำลาวในหลายตำแหน่งในปีหน้า เนื่องจากจะมีการประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติ (เดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม 2553) และการเลือกตั้งสภาแห่งชาติในช่วงใกล้เคียงกัน ซึ่งสาเหตุดังกล่าว น่าจะทำให้ฝ่ายลาวมีท่าทีไม่พร้อมที่จะจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - ลาว ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งจะตรงกับการฉลอง 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - ลาว ตามข้อเสนอของไทย

3. รัฐบาลลาวให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพิธีเฉลิมฉลองการเปิดเขื่อนน้ำเทิน 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 (ข้อ 1.4) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์รายงานว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดที่ได้เปิดดำเนินการแล้ว จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ขณะที่รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดพิธีเฉลิมฉลองขึ้นเป็นการเฉพาะและเตรียมงานอย่างยิ่งใหญ่ ต่อเนื่องจากวันเฉลิมฉลองการครบรอบ 35 ปีของการจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 โดยฝ่ายลาวได้เชิญประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประธานธนาคารโลก และประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) เข้าร่วมด้วย

การที่ในโอกาสต่อมา นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตอบรับเข้าร่วมพิธีดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ผู้นำของสองฝ่ายพบหารือข้อราชการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับสูง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยให้กับพัฒนาการของ สปป.ลาว กล่าวคือ นอกจากโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 จะเป็นโครงการที่มีการลงทุนจากฝ่ายไทยถึงร้อยละ 40 แล้วยังเป็นตัวอย่างความสำเร็จของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล สปป. ลาว ที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศและนำประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นสำหรับประเทศไทยด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ