รายงานผลการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คำกล่าวเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรี

  • Mr. Jacques Diouf ผู้อำนวยการใหญ่ FAO ได้กล่าวต้อนรับ โดยกล่าวถึงสถานการณ์ความไม่มั่นคงด้านอาหารของโลกและของภูมิภาค ซึ่งจากข้อมูลของ FAO ระบุว่าในปี 2553 มีจำนวนประชากรโลกที่หิวโหย (hungry people) จำนวน 925 ล้านคน และส่วนใหญ่หรือประมาณ 578 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำหรับประเด็นท้าทายของภูมิภาคในอนาคต หรืออีก 40 ปีข้างหน้า คือในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 70 แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่จะมีการเพิ่มจำนวนของประชากรมากกว่า จะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องทำการลงทุนด้านการเกษตรให้มากขึ้น เช่น เทคโนโลยี ปัจจัยการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การควบคุมน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเพิ่มความต้องการของพลังงานชีวภาพด้วย
  • นาย Lee Myung-bak ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้กล่าวเปิดการประชุม โดยกล่าวถึงการพัฒนาประเทศของเกาหลีว่าเมื่อ 45 ปีที่แล้ว เกาหลีเคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่งแต่ปัจจุบันเกาหลีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และเปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้รับเป็นประเทศผู้ให้ เกาหลียินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับเกษตรกรรายย่อย ประธานาธิบดีฯ ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกาหลีเองได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรของประเทศเพื่อลดคาร์บอน โดยดำเนินโครงการต่างๆ ประมาณ 50 โครงการ นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการขจัดความยากจนและสร้างความมั่งคั่งในภูมิภาคต่อไป

2. การปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงอาหาร

ที่ประชุมได้ตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงอาหาร สภาพความเป็นอยู่ของประชากร การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตร รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งที่ประชุมกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หามาตรการรองรับการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้อง FAO ให้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการเพิ่มสมรรถนะในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผู้แทนไทยได้กล่าวสนับสนุนให้ FAO ให้ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในด้านนโยบาย ด้านเทคนิค และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้เสียในระดับท้องถิ่นด้วย

3. ประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤติราคาอาหารและวิกฤติการเงินโลก

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการกับวิกฤติราคาอาหาร และการเงินโลกในช่วงปี 2550 — 2551 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคต ที่ประชุมจึงได้กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการลงทุนในภาคเกษตรเป็นลำดับแรก และสร้างเสริมระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อปกป้องผู้บริโภคในช่วงวิกฤติ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ FAO สนับสนุนประเทศสมาชิกในการพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน การสำรองอาหาร ระบบตลาด และเพิ่มความร่วมมือในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สนับสนุนประเทศสมาชิกในการหามาตรการเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของธนาคารอาหารภูมิภาคเพื่อรองรับกับวิกฤติอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งผู้แทนไทยได้กล่าวสนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตร รวมถึงการสร้างเสริมระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมทั้งในระดับประเทศ ระดับอนุภูมิภาค และระดับภูมิภาค

4. ผลการดำเนินงานของ FAO ประจำปี 2551 — 2552

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของ FAO ประจำปี 2551 — 2552 ในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในภูมิภาค ผ่านทางโครงการความร่วมมือทางวิชาการการประชุมสัมมนา และการฝึกอบรม ในเรื่องที่สำคัญๆ คือ นโยบายเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร อาหารปลอดภัย การปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การตอบสนองต่อเรื่องโรคระบาดสัตว์และภัยพิบัติธรรมชาติ การประกันพืชผลและการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น โดยในปี 2552 ใช้งบประมาณสำหรับดำเนินงานโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ จำนวน 346 โครงการ และความช่วยเหลือเร่งด่วนฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ จำนวน 248 โครงการ ในวงเงินประมาณ 141 ล้านเหรียญสหรัฐ

5. กรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ FAO ในภูมิภาค

ที่ประชุมให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นระยะเวลา 10 ปี (2553 — 2562) ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานขององค์การ FAO โดยรวม ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

  • วิสัยทัศน์ คือ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความมั่นคงอาหาร
  • พันธกิจ คือ ช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้ลดจำนวนผู้ขาดสารอาหาร ให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2558 โดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดความยากจน ในขณะเดียวกันต้องปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค และเพื่อให้วิสัยทัศน์และพันธกิจบรรลุเป้าหมายจึงได้แปลงยุทธศาสตร์ขององค์การให้เป็นกรอบยุทธศาสตร์ของภูมิภาค 5 ข้อ ดังนี้

(1) เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนการขจัดความหิวโหยและทุพโภชนาการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเป้าหมายของการประชุมสุดยอดอาหารโลกของ FAO เมื่อปี 2539

(2) ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและพัฒนาชนบท เพื่อเพิ่มผลผลิต และผลิตภาพการเกษตร โดยเน้นพืชอาหารหลัก เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด และปศุสัตว์ ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรชนบท สนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดได้ และสนับสนุนการพัฒนาการเกษตร และธุรกิจการเกษตร

(3) สนับสนุนการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเหมาะสม เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบที่ยั่งยืน เพิ่มผลิตภาพของน้ำและการปรับปรุงระบบชลประทาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

(4) เสริมสร้างสมรรถนะของประเทศสมาชิกให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามและความเร่งด่วนฉุกเฉินทางด้านอาหาร และการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานแต่เดิมซึ่งเน้นการตอบสนองต่อภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว เป็นการดำเนินงานอย่างครบวงจร คือ การลดภัยพิบัติ การเตรียมความพร้อม การป้องกัน การตอบสนอง และการบูรณะฟื้นฟู

(5) สามารถเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตร และลดการปล่อยก๊าซจากการทำการเกษตร

6. แผนงานและงบประมาณประจำปี 2553 -2554 และแผนงานประจำปี 2555 — 2556

ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณปี 2553 — 2554 ซึ่งจัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และเห็นชอบแผนงานปี 2555 -2556 ซึ่งเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกใน 5 ประเด็น คือ 1) เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ 2) ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและพัฒนาชนบท 3) สนับสนุนการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเหมาะสม 4) เสริมสร้างสมรรถนะให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามและความเร่งด่วนฉุกเฉินทางด้านอาหารและการเกษตร 5) สามารถเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้ FAO จัดสรรงบประมาณสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้มากขึ้น เนื่องจากในภูมิภาคนี้มีประชากรที่อดอยากหิวโหยมากที่สุด แต่ได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ภูมิภาคแอฟริกาได้รับ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ขอให้ FAO ดำเนินงานใน 5 เรื่องต่อไปนี้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย ได้แก่ 1) การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตพืชอย่างยั่งยืน 2) การป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมทางพืชและสัตว์ 4) การปรับตัว และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 4) ความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการ 5) ความหลากหลายทางการเกษตร โดยเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการจัดการด้านป่าไม้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ สำหรับแผนงานปี 2555 — 2556 ที่ประชุมขอให้เน้นการดำเนินงานในประเด็นท้าทายในปัจจุบันอีก 4 ประเด็น คือ 1) ปัญหาความยากจนและความหิวโหย 2) การเพิ่มของประชากรโลกและการผลิตอาหารให้เพียงพอ 3) การลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 4) การเพิ่มการลงทุนภาคการเกษตร

7. แผนปฏิบัติการเร่งด่วนและการปฏิรูปองค์การ FAO

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการปฏิรูป FAO โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีผลกระทบต่อการกระจายอำนาจ รวมถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการระบบการรายงานการทำงานของเจ้าหน้าที่ การมอบอำนาจและความรับผิดชอบด้านการเงินของ FAO สำนักงานใหญ่ให้แก่สำนักงานภูมิภาคมากขึ้น โดยที่ประชุมได้แนะนำมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพของการกระจายอำนาจ คือ 1) การเสริมสร้างศักยภาพของสำนักงานภูมิภาคในการรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉิน 2) การหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร 3) การสร้างความเชื่อมโยงของสำนักงานภูมิภาคกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง องค์การสหประชาชาติอื่นๆ และคู่เจรจาต่างๆ ซึ่งที่ประชุมขอให้ FAO นำไปปฏิบัติด้วย

8. การยุบรวมศูนย์บริการร่วม

ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอเรื่องการยุบรวมศูนย์บริการร่วม (Shared Services Centre - SSC) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 ศูนย์ ที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี กรุงเทพฯ ประเทศไทย และซานดิเอโก ประเทศชิลี ให้เหลือเพียงศูนย์เดียวที่บูดาเปสต์ โดยคาดหวังว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้แทนไทยได้กล่าวแสดงข้อกังวลทั้งในแง่ประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ที่บูดาเปสต์เมื่อเทียบกับศูนย์ที่กรุงเทพฯ และในแง่ของการประหยัดงบประมาณในระยะยาวเนื่องจากประเทศฮังการีจะใช้เงินตราสกุลยูโรต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงได้เสนอท่าทีให้คงศูนย์บริการร่วมที่กรุงเทพฯ ไว้ต่อไป ซึ่งที่ประชุมได้ให้การสนับสนุนท่าทีของประเทศไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบโดยพิจารณาประเด็นเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องการประหยัดงบประมาณด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มุ่งในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการประหยัดงบประมาณในระยะยาว ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านการเงินที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2553 ต่อไป

4. ข้อคิดเห็น

4.1 ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระดับภูมิภาคซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบนี้ ไปปรับใช้ในการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไปได้ ขณะเดียวกัน กรอบในระดับภูมิภาคดังกล่าวจะเป็นแนวทางที่ FAO จะให้ความช่วยเหลือที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกในภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่เป็นความท้าทายของภูมิภาค เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

4.2 การที่ประเทศสมาชิกสนับสนุนท่าทีไทยที่ยืนยันไม่ให้ยุบรวมศูนย์บริการร่วมที่กรุงเทพฯ ไปรวมเป็นศูนย์เดียวที่บูดาเปสต์นั้น เป็นความพยายามที่จะคงคุณภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการด้านบริหารและการเงินการคลังในภูมิภาคไว้ นอกจากนี้ การคงศูนย์ดังกล่าวไว้ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยที่ทำให้คนไทยที่ทำงานที่ศูนย์ฯ นี้ ยังคงปฏิบัติงานต่อได้อีกประมาณ 12 คน

4.3 ในการกล่าวถ้อยแถลงประเทศไทยและประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ได้เน้นการให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การวิจัยพันธุ์พืชทนแล้ง เป็นต้น

4.4 การที่ประเทศสมาชิกของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสนับสนุนข้อเสนอ ของประเทศไทยที่ไม่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้น แต่ขอเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการของสำนักงานภูมิภาคมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งของสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังสามารถรักษาเจ้าหน้าที่คนไทยซึ่งมีอยู่กว่า 70 คนได้ปฏิบัติงานต่อไปด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ