เรื่อง รายงานสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 12
และการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 12 และการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายภิมุข สิมะโรจน์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 10-16 ตุลาคม 2553 ณ เมือง Jerudong บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระหว่างระหว่างรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อพบปะหารือ และทบทวนความร่วมมือต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ซึ่งได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้าน สิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Official on Environment - ASOEN) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำสิ่งแวดล้อมศึกษา มลพิษหมอกควันข้ามแดนและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบความร่วมมือกับประเทศอาเซียน+3 และประเทศอาเซียน+6
ผลการประชุม
1. การประชุมประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 6 (The 6th Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution — COP6) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2553 สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้
1.1 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนได้มีการทบทวนกิจกรรมทั้งในระดับชาติ ระดับอนุภูมิภาคและระดับภูมิภาค เกี่ยวกับไฟบนดิน/ไฟป่า และมลพิษหมอกควันข้ามแดน และรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานภายใต้ข้อตกลงอาเซียนด้านมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (Work Programme of the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)
1.2 ที่ประชุมรับทราบการรายงานจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre-ASMC) ซึ่งดูแลโดยสาธารณรัฐสิงคโปร์ เกี่ยวกับการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์ไฟและหมอกควันจากเดือนตุลาคมถึงสิ้นปี 2553 โดยที่ภูมิภาคอาเซียนตอนเหนือจะเข้าสู่อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้มีปริมาณฝนลดลงและคาดว่าจำนวน hotspot จะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับภูมิภาคอาเซียนทางตอนใต้อาจมีฝนตกบ้าง จึงทำให้จำนวน hotspot ลดลง อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอาเซียนควรคงระดับการเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการในการป้องกันสถานการณ์หมอกควันไว้อย่างต่อเนื่อง
1.3 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการพัฒนาระบบการคาดการณ์ระดับความรุนแรงของไฟสำหรับภูมิภาคอาเซียน (Fire Danger Rating System - FDRS) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการในการป้องกันการเกิดการลุกลามของไฟ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการติดตามสภาพภูมิอากาศและจำนวน hotspot
1.4 ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินงานในโครงการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของป่าพรุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Rehabilitation and Sustainable Use of Peatland Forests in Southeast Asia) ซึ่งรวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Workshop on Options for Carbon Financing to Support Peatland Management ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม 2553 ณ เมือง Riau สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้มีการสนับสนุนโครงการนี้ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค เนื่องจากการแก้ไขปัญหาไฟบนดิน/ไฟป่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
1.5 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ในระหว่างเดือนมกราคม 2554
2. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 12 (12th IAMME) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2553 สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
2.1 ที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนเห็นถึงความสำคัญของการบรรลุข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 16 (16th Session of the Conference of the Parties to the UNFCCC - COP16) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 6 (the 6th session of the Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Kyoto Protocol - CMP6) ณ เมือง Cancun สหรัฐเม็กซิโก โดยเน้นถึงความล่าช้าของการเจรจาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ในหลายประเด็น และได้ให้ความสำคัญกับท่าทีของประเทศอาเซียนในส่วนที่จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการนำไปสู่ข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นของการควบคุมการสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปฏิบัติตามพันธกรณีอื่นๆ ที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในด้านงบประมาณ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสม เพียงพอและยั่งยืนสำหรับการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินงานแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดการประชุมหารือ (pre-consultation meeting) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม COP16 และ CMP6 ในการนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รับที่จะพิจารณาดำเนินการจัดประชุมดังกล่าว และจะประสานประเทศสมาชิกอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแจ้งกำหนดวันประชุม ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานหน้าห้อง รมว.ทส. ขอกำหนดวันจัดประชุมในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงเทพฯ
2.2 ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (ASEAN Strategic Plan on Water Resources Management) ได้แก่ Demand management learning forum for irrigation ระบบการแบ่งชั้นแม่น้ำ (river classification system) การออกแบบระบบการรายงาน และการจัดการข้อมูลน้ำอาเซียน (ASEAN water data management and reporting system design) และความเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะอุทกภัยและความแห้งแล้งรุนแรงในประเทศอาเซียน
2.3 ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาของอาเซียน ปี พ.ศ. 2551-2555 (ASEAN Environmental Education Plan 2008-2012) และให้การรับรองข้อเสนอในการจัด ASEAN Environmentally Sustainable Development Film Festival ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) ‘Change the Climate Change’ เป็นกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2554 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา
2.4 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าจัดทำร่างกลไกของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการเฝ้าระวังและติดตามการลักลอบทิ้งของเสียที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการทิ้งของเสียจากการเดินเรือทะเล (ASEAN Mechanism to Enhance Surveillance against Illegal Desludging and Disposal of Tanker Sludge at Sea) ในการนี้ ประเทศไทยแจ้งต่อที่ประชุมว่า อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอ “ระบบการขนส่ง เคลื่อนย้าย และกำจัดของเสีย (Manifest System)” เพื่อส่งเสริมการเฝ้าระวังและติดตามการล้าง และการจัดการของเสียที่ผิดกฎหมายของเรือบรรทุกของเสียในทะเล
3. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 (The ASEAN Plus Three Environment Ministers Meeting - 9th EMM+3) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนพบปะหารือกับประเทศคู่เจรจา+3 คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ในเรื่อง การดำเนินงานของ China-ASEAN Environmental Cooperation Centre และการปฏิบัติตาม China-ASEAN Strategy on Environmental Protection Cooperation การสนับสนุนจากกองทุน Japan ASEAN Integrated Fund (JAIF) ในการดำเนินโครงการPromotion of Environmentally Sustainable Cities (ESC) in ASEAN Countries และ Taxonomic Capacity Building and Governance for Conservation and Sustainable Use of Biodiversity ซึ่งประเทศไทยขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนงบประมาณจัดการประชุม Workshop on Risks and Impacts from Extreme Events of Droughts ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2553 ณ ประเทศไทย
4. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 (The 2nd East Asia Summit Environment Ministers Meeting - 2nd EAS EMM) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553
4.1 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนพบปะหารือกับประเทศคู่เจรจาเอเชียตะวันออก คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และความคืบหน้าในการปฏิบัติการตาม Singapore Declaration on Climate Change, Energy and the Environment ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการประชุมระดับผู้นำเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550
4.2 ที่ประชุมรับทราบความสำเร็จและผลการประชุม EAS High Level Seminar on Sustainable Cities (HLS/ESC) เมื่อวันที่ 2-4 มีนาคม 2553 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และได้มีมติรับรองข้อเสนอของประเทศญี่ปุ่นในการจัดการประชุม HLS/ESC ครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปี 2554 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีหนังสือเชิญ ทส.เป็นผู้ร่วมจัด (co-organizer) HLS/ESC ครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวแสดงความยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการสัมมนาดังกล่าวต่อไป
4.3 ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีท่าทีที่ชัดเจนที่ต้องการให้ผลจากการประชุม COP16/CMP6 เป็นประโยชน์และมีความเป็นธรรม รวมทั้งเห็นควรผลักดันการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จและได้รับประโยชน์จากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (10th Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity — COP10) ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2553 ณ เมือง Aichi-Nagoya ประเทศญี่ปุ่น
4.4 ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ การปฏิบัติการตาม Road Map ของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานตามข้อริเริ่มเดิมและข้อริเริ่มใหม่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การจัดตั้ง East Asia Centre on Environment Education ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง senior-official level Task Force เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นความยั่งยืนด้านการเงินในระยะยาว
4.5 ที่ประชุมเห็นควรให้มีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2554
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--