สรุปสถานการณ์ภัยหนาว อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยหนาว อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 - 8 พฤศจิกายน 2553) ดังนี้

1. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย

1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ได้มีข้อสั่งการในการประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 11/2553 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Vedio Conference) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการ ดังนี้

1.1.1 ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งศูนย์รับบริจาคเครื่องกันหนาวขึ้น ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และในส่วนภูมิภาคให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์รับบริจาคของแต่ละจังหวัดด้วย

1.1.2 ในช่วงต้นฤดูหนาว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อม และติดตามการรายงานพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อพิจารณาประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้ทันต่อเหตุการณ์ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

1.1.3 ให้ระมัดระวังเรื่องหมอกควัน หรือควันจากไฟป่า จากสภาพอากาศที่แห้งในช่วงฤดูหนาว โดยการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลอีกทางหนึ่ง เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด

1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมคณะ เดินทางไปประชุมเพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยหนาว ปี 2553 - 2554 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี

1.3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ

2. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - ปัจจุบัน)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน เชียงราย ขอนแก่น เลย สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี

3. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครราชสีมา เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4. ข้อระเบียบ/กฎหมาย

4.1 จังหวัดมีเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจัดซื้อผ้าห่ม และเครื่องกันหนาวที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประสบภัย เมื่อมีสภาพอากาศหนาว (8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) ในวงเงินจังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท

4.2 สำหรับในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2553/2554 กรมบัญชีกลาง โดยได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง ได้อนุมัติให้จังหวัดต่างๆ ดำเนินการโดยยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 แล้ว

สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุดีเปรสชัน (ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2553)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 8 - 14 พ.ย. 2553)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 8 - 14 พ.ย. 2553 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ และประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นลง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงจะพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย และร่องมรสุมที่พาดผ่านอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดชุมพร ลงไปมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. สถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน (วันที่ 10 ต.ค. - 8 พ.ย. 2553)

2.1 ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 18 จังหวัด 87 อำเภอ 669 ตำบล4,912 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 125 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 474,497 ครัวเรือน 1,421,140 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 6,316,156 ไร่ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี

2.2 สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2553 อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

2.2.1 พื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 130 อำเภอ 817 ตำบล 5,642 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 56 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 535,696 ครัวเรือน 1,731,876 คน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร และจังหวัดระนอง

2.2.2 การให้ความช่วยเหลือ

1) นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายวิบูลย์ สงวนพงศ์) และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบ อุทกภัยและตรวจติดตามการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2553

2) กระทรวงมหาดไทย มอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ให้อำเภอในพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นศูนย์กลางในการประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชน

3) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะ เดินทางไปที่วัดพัฒนาราม อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ว่าที่ ร.ต.วัชรัตน์ บุญฤทธิ์ ปลัดอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่ม ขณะออกไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอจะนะ และในเวลา 15.30 น. เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กระทรวงมหาดไทย

3. การให้ความช่วยเหลือของกระทรวงมหาดไทย

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3.1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบถุงยังชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี รวม จำนวน 5,300 ถุง

3.1.2 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาอุทกภัยวาตภัย และดินถล่ม กระทรวงมหาดไทย ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายวิบูลย์ สงวนพงศ์) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป

3.2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2553 ถึงปัจจุบัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์) รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายประทีป กีรติเรขา) ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบถุงยังชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา รวม จำนวน 14,500 ถุง พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553 (ส่วนหน้า) จังหวัดนครราชสีมา

3.3 การแจกจ่ายน้ำดื่มแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ตามพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ กาฬสินธุ์ และจังหวัดสิงห์บุรี รวม จำนวน 3,414,850 ลิตร

4. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

4.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบแก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวม จำนวน 94,850 ครอบครัว

4.2 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 96,381 ชุด น้ำดื่ม 762,982 ขวด รถผลิตน้ำดื่ม 3 คัน หน่วยครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทย และเรือท้องแบน 7 ลำ

4.3 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 14,150 ชุด นมเม็ดจิตรลดา 200 ลัง และนมน้ำจิตรลดา 400 ลัง

4.4 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงให้ผู้แทนพระองค์เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 17,102 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

4.5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) และคณะ นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี รวม จำนวน 1,000 ชุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ