คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม— 5 พฤศจิกายน 2553 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข้อเท็จจริง
จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม — 5 พฤศจิกายน 2553 ส่งผลให้เกิดเหตุดินถล่มจนก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ดังนี้
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
- บริเวณบ้านสวนจันทร์ หมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 5 หลัง และเสียหายบางส่วน จำนวน 5 หลัง
- บ้านท่างิ้ว หมู่ที่ 1 ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีดินปิดทับถนนหลายช่วง ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และสร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรเล็กน้อย
- บริเวณพื้นที่ หมู่ 6, 8 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ดินปิดทับเส้นทางคมนาคมสาย 4077 ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
- บริเวณหมู่ที่ 9 และ หมู่ที่ 13 ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดินปิดทับเส้นทาง ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้
- บ้านในเหยา หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยยอด และบ้านไร่เหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พบดินถล่มมากกว่า 20 จุด พื้นที่การเกษตรของประชาชนเสียหาย
- บ้านน้ำผุด หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ดินปิดทับเส้นทางมากกว่า 3 แห่ง ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553
- บ้านกลาง หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ดินปิดทับเส้นทางมากกว่า 3 แห่ง ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553
- บ้านคลองเหลง หมู่ที่ 6 ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กว้าง 15-30 เมตร เป็นทางยาวกว่า 6 กิโลเมตร ทำให้ไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ และพื้นที่สวนยางโดยรอบได้รับความเสียหาย
- บ้านเขาหลัก หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ดินปิดทับเส้นทางสายหลัก ทำให้ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2 หลัง
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการดังนี้
1. การดำเนินงานก่อนเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยดินถล่ม
1.1 ดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ และสิ่งบอกเหตุก่อนเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จากเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติ
1.2 ติดต่อประสานงานเครือข่ายฯ ทางโทรศัพท์ เพื่อกระตุ้นเตือน ให้ระมัดระวังพิบัติภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก
2. การดำเนินงานระหว่างเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยดินถล่ม
2.1 กรมทรัพยากรธรณี ออกประกาศ จำนวน 4 ฉบับ (ฉบับที่ 25-28/2553) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม และ วันที่ 1, 3 ,5 พฤศจิกายน 2553 ให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทำการเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากอย่างต่อเนื่อง
2.2 อาสาสมัครเครือข่ายฯ ได้แจ้งเตือนให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน เตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง สถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งได้อพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่เสี่ยงภัยในบางพื้นที่ จึงทำให้ลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
2.3 ประสานงานรับแจ้งเหตุดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากจากเครือข่ายฯ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ เช่น เหตุการณ์ดินถล่ม ที่อำเภอห้วยยอด และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง และประสานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ในเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
3. การดำเนินงานหลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยดินถล่ม
3.1 จัดส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบพื้นที่ประสบเหตุดินถล่ม เพื่อหาสาเหตุ ที่นำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง
พื้นที่ที่ 1 ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ในหุบเขา สภาพธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิตที่ผุพังง่ายให้ชั้นดินหนา ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนความลาดชันของภูเขา เมื่อมีฝนตกหนัก ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากเครือข่ายฯ วัดได้ 143 มิลลิเมตร ชั้นดินจึงขาดเสถียรภาพ เกิดการเคลื่อนตัวลงมาทับเส้นทางสัญจรในพื้นที่ดังกล่าว
พื้นที่ที่ 2 บ้านคลองเหลง หมู่ที่ 6 ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ใกล้เขาซึ่งมีความชันสูง สภาพธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิตที่มีรอยแตกมากหลายทิศทาง ทำให้ผุพังได้ชั้นดินปนหินหนา ประกอบกับมีฝนตกหนัก ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากเครือข่ายฯ วัดได้ 394 มิลลิเมตร ทำให้ชั้นดินปนหินขาดเสถียรภาพ จึงเกิดการเคลื่อนตัวและถล่มลงมาตามร่องน้ำเก่าเป็นระยะทางยาวมากกว่า 6 กิโลเมตร คิดมวลดินปนหินหนักมากกว่า 2 แสนตัน โดยหินขนาดใหญ่สุดที่ถล่มลงมามีขนาด 10 x 10 เมตร
พื้นที่ที่ 3 บ้านเขาหลัก หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาลูกเดียวกับพื้นที่ที่ 2 แต่อยู่คนละลุ่มน้ำ สภาพธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิตที่มีรอยแตกมากหลายทิศทางทำให้ผุพังได้ชั้นดินปนหินหนา ประกอบกับมีฝนตกหนัก เครือข่ายฯ วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 300 มิลลิเมตร ทำให้ชั้นดินปนหินขาดเสถียรภาพ จึงเกิดการเคลื่อนตัวและถล่มลงมา
พื้นที่ที่ 4 บ้านสวนจันทร์ หมู่ที่ 7 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ใกล้เนินเขา สภาพธรณีวิทยาเป็นหินตะกอนชนิดหินทรายและหินดินดาน มีการขุดตัดลาดเขา เพื่อนำดินปนหินไปใช้ประโยชน์ เมื่อมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายฯ วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 300 มิลลิเมตร ทำให้ชั้นดินปนหินขาดเสถียรภาพ จึงเกิดการเคลื่อนตัวและเลื่อนไถลลงมาทับบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ติดเนินเขาดังกล่าว
3.2 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยดินถล่ม แบบบูรณาการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เดิม
3.3 วางแผนเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม ของกรมทรัพยากรธรณี และเครือข่ายฯ ในอันที่จะแจ้งให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลได้ทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบจากภัยดินถล่ม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--