รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 2 — 8 พฤศจิกายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 17:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 2 — 8 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยและภัยแล้ง รวบรวม วิเคราะห์ พยากรณ์ คาดการณ์ และติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อการเตือนภัยและกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ มีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำในภาพรวม

  • สภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวขึ้นบริเวณอ่าวไทยในตอนบ่ายของวันที่ 31 ต.ค. 2553 ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ในวันที่ 1 พ.ย. 2553 จากนั้นได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 2 พ.ย. 2553 ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนาแน่น โดยมีฝนตกหนักมากจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่
  • สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ประมาณร้อยละ 75 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

เขื่อนที่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำ มีจำนวน 14 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 81 - 100 มีจำนวน 8 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 50 - 80 มีจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

  • สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และที่ อ.สามง่าม จ.พิจิตร แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำชี ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม และที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม แม่น้ำมูล ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ คลองพระแสง ที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี และแม่น้ำตรัง ที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมาก คือ แม่น้ำน่าน ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำพอง ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ลำปลายมาศ ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ลำชี ที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ห้วยสำราญ ที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ และแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

2. สถานการณ์อุทกภัยในรอบสัปดาห์ มีพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใน 19 จังหวัด ประกอบด้วย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

3. การให้ความช่วยเหลือ

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางตรวจพื้นที่น้ำท่วมและมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม

  • ในวันที่ 6 พ.ย. 2553 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่บ้านกุดกว้าง ต.กุดกว้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมอบน้ำดื่ม 500 ขวด ถุงยังชีพ 50 ชุด และยาสามัญประจำบ้าน 500 ชุด
  • ในวันที่ 3 พ.ย. 2553 ได้มอบน้ำดื่มจำนวน 2,000 ขวด และถุงยังชีพ จำนวน 50 ชุด ให้ผู้ประสบอุทกภัย บ้านกุดเป่ง ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง บ้านโนนเชือก ต.หนองตูม และอบต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
  • ในวันที่ 24 ต.ค. 2553 ได้ไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
  • ในวันที่ 23 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่ตำบลปากตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี และมอบถุงยังชีพจำนวน 400 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 5,000 ขวด พร้อมบินสำรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำป่าสักและเจ้าพระยาตอนล่าง
  • ในวันที่ 21 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่บ้านปากกะพอก อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี และมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม จำนวน 200 ชุด

3.2 กรมทรัพยากรน้ำ มอบน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดลำปาง น่าน พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม จำนวนรวม 54,700 ขวด สนับสนุนรถผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่ 4 คัน แจกจ่ายน้ำประปา 422,962 ลิตร จัดรถยนต์รับส่งประชาชนที่ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง ถุงยังชีพ 250 ชุด ชุดสารส้มและคลอรีนเม็ด 65 ชุด

3.3 ในรอบสัปดาห์นี้ สถานีเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำมีการแจ้งเตือนภัย จำนวน 38 ครั้ง ครอบคลุม 91 หมู่บ้าน ใน 7 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และชุมพร เป็นการเตือนในระดับอพยพ 10 ครั้ง 22 หมู่บ้าน ระดับเตรียมอพยพ 19 ครั้ง 53 หมู่บ้าน และระดับเฝ้าระวัง 9 ครั้ง 16 หมู่บ้าน

3.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมบ่อบาดาลแบบถาวร 1,086 บ่อ เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 223 บ่อ ซ่อมเครื่องสูบน้ำ 164 เครื่อง ซ่อมแซมระบบประปา 51 ระบบ แจกน้ำดื่ม 372,143 ขวด และแจกน้ำจากระบบประปาเคลื่อนที่ 765,010 ลิตร

3.5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 3 คัน และรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

4. การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2553

4.1 ให้แจ้งทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ในช่วงวันที่ 9 - 12 พ.ย. 2553 เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

4.2 ประธานฯ มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ แจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมตามที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงาน

4.3 ประธานฯ ขอให้อนุกรรมการทุกท่านเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมกันพิจารณาและ คาดการณ์สถานการณ์น้ำ และขอให้นำผลการประชุม โดยเฉพาะผลการคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมไปแจ้งเตือนภัยน้ำให้กับพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเป็นการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

4.4 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณน้ำเก็กกักเต็มอ่าง โดยวันที่ 7 พ.ย. 2553 มีน้ำประมาณร้อยละ 115 ในการระบายน้ำออกได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว โดยเฉพาะจุดบรรจบของแม่น้ำพองกับแม่น้ำชี ทำให้มีน้ำเอ่อท่วมเหนือเขื่อนใน 2 จังหวัด 5 อำเภอ 105 หมู่บ้าน พื้นที่น้ำท่วม 11,000 ไร่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการแจกถุงยังชีพ

4.5 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล คาดว่า ปริมาณน้ำสูงสุดจากแม่น้ำมูลจะมาถึงอุบลราชธานี ในวันที่ 10 พ.ย. 2553 ส่วนปริมาณน้ำสูงสุดจากแม่น้ำชีจะมาถึงอุบลราชธานี ในอีก 2 — 3 วัน จะทำให้ระดับแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานี สูงขึ้นประมาณ 0.50 — 0.70 ซม. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม

4.6 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน ปริมาณฝนตอนบนของประเทศลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือผ่าน จ.นครสวรรค์ น้อยลง โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 7 พ.ย. 2553 มีปริมาณน้ำลดลงเหลือ 2,960 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบปี วันที่ 8 พ.ย. 2553 ไม่ส่งผลต่อพื้นที่น้ำท่วมเดิม โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กองบัญชาการกองทัพเรือ ระดับน้ำสูงสุดในวันที่ 7 พ.ย. 2553 1.99 ม.รทก. และระดับน้ำในวันที่ 8 พ.ย. 2553 1.97 ม.รทก. ซึ่งคาดว่า พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำจะเข้าสู่สภาวะปกติได้ในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

4.7 การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่น้ำท่วม จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และนครสวรรค์ พบว่า น้ำยังไม่เน่าเสีย และสนับสนุนสารสกัดชีวภาพให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล 4 แห่ง ในจังหวัดลพบุรี เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ รวมทั้งจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางและมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะมูลฝอย เมื่อวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ