คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และร่างแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ภายใต้ระบบการควบคุม และนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ตลอดจนกลไกการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติ
2. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาบรรจุแผนงาน/โครงการตามแผนปฏิบัติการนี้ไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน และแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของหน่วยงานต่อไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งความเห็นของสำนักงบประมาณ ในประเด็นความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาเฮมพ์ตามยุทธศาสตร์ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนงบประมาณในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) วงเงิน 72.350 ล้านบาท และแผนปฏิบัติการโครงการนำร่องพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2554-2555) วงเงิน 17.549 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 89.899 ล้านบาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ภายในกรอบงบประมาณที่ได้รับไว้แล้ว และสำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2557 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเสนอคำขอตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งต้องตรวจสอบและกำหนดแผนงาน/โครงการไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน/แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของหน่วยงานตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (22 กันยายน 2552) ในส่วนของ สศช. ได้มอบหมายสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2552—มิถุนายน 2553 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการฯ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) ดังนี้
1. สาระสำคัญร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557)
1.1 วัตถุประสงค์
1.1.1 เพื่อให้แนวทางการวิจัยและพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูงภายใต้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2552-2556) และนำไปสู่การพัฒนาเฮมพ์ที่เป็นรูปธรรม
1.1.2 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของการดำเนินงานพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง โดยบูรณาการแผนงาน โครงการ กิจกรรม และงบประมาณร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูง
1.1.3 เพื่อให้มีกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาเฮมพ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่สูง
1.2 แผนงานและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ
เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูงอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556) โดยมีข้อเสนอรวมทั้งสิ้น 9 แผนงาน 23 โครงการ สรุปได้ดังนี้
1.2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธุ์ การศึกษาเขตกรรม และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน12 โครงการ วงเงิน 34.25 ล้านบาท โดยมีมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำแนกตามแผนงาน/กิจกรรม ดังนี้
(1) แผนงานที่ 1 การปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ จำนวน 4 โครงการ โดยเน้นการพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ที่มีปริมาณสาร Tetra Hydro Cannabinol (THC) ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 % มีผลผลิตเส้นใย หรือปริมาณเมล็ดสูง และมีคุณภาพดี
(2) แผนงานที่ 2 การวิจัยและศึกษาวิธีการเขตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตเฮมพ์ จำนวน 2 โครงการ โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเฮมพ์และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสาร THC และระดับความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน และการศึกษาวิธีการปลูกและการใช้ปัจจัยในการผลิต
(3) แผนงานที่ 3 ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูป จำนวน 4 โครงการ โดยเน้นการพัฒนากระบวนการแปรรูปจากเส้นใย และกระบวนการทอผ้าให้มีคุณภาพ
(4) แผนงานที่ 4 ด้านการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดสินค้าจากเฮมพ์ จำนวน 2 โครงการ โดยเน้นการศึกษาต้นทุนการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตเส้นใยและการแปรรูปเฮมพ์
1.2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการปลูก และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นการส่งเสริมเกษตรกรปลูกเพื่อผลิตเส้นใยภายใต้ระบบควบคุมและการแปรรูปจากเส้นใย ประกอบด้วย 2 แผนงาน 5 โครงการ วงเงิน 25.85 ล้านบาท มีมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำแนกตามแผนงาน/กิจกรรม ดังนี้
(1) แผนงานที่ 5 การส่งเสริมเกษตรกรปลูกเพื่อผลิตเส้นใยภายใต้ระบบควบคุม จำนวน 3 โครงการ โดยเน้นการส่งเสริม และพัฒนากลุ่มสหกรณ์ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเฮมพ์ เพื่อเป็นการรวมกลุ่มขออนุญาตปลูก และผลิตเฮมพ์ภายใต้ระบบควบคุมของรัฐ โดยรับเมล็ดพันธุ์เฮมพ์เพื่อนำมาปลูกจากมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์เฮมพ์
(2) แผนงานที่ 6 การพัฒนากระบวนการแปรรูปจากเส้นใย จำนวน 2 โครงการ โดยเน้นการพัฒนากระบวนการแปรรูปจากเส้นใยให้มีคุณภาพ เพื่อลดขั้นตอน และลดระยะเวลาในการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงและออกแบบผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่มีรูปแบบที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการตลาด
1.2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1 แผนงาน 1 โครงการ วงเงิน 1.35 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำแนกตามแผนงาน/กิจกรรม ดังนี้
แผนงานที่ 7 ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ จำนวน 1 โครงการ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีการผลิตเฮมพ์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการดำเนินการทั้งทางด้านการผลิตและการค้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
1.2.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ เป็นการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกลไกการดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 แผนงาน 5 โครงการ วงเงิน 10.90 ล้านบาท โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงมหาดไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำแนกตามแผนงาน/กิจกรรม ดังนี้
(1) แผนงานที่ 8 การปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 โครงการ โดยเน้นการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการปลูกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เฮมพ์
(2) แผนงานที่ 9 การอำนวยการและประสานงาน จำนวน 4 โครงการ โดยเน้นการกำหนดกลไกการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ในรูปของคณะกรรมการกำกับดูแล หรือหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
2. การดำเนินการในพื้นที่นำร่อง
เพื่อผลักดันแผนยุทธศาสตร์การปลูกเฮมพ์ให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีการวางระบบและศึกษาจากพื้นที่นำร่องที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการดำเนินงาน เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผล ดังนี้
2.1 หลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่นำร่อง เพื่อให้ได้พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินงาน โดยพิจารณาหลักเกณฑ์ใน 3 ด้าน ดังนี้ (1) ระดับความสูงของพื้นที่ (2) ความพร้อมของชุมชนในพื้นที่ (3) ความพร้อมของหน่วยงานในพื้นที่
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาจากเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) สรุปได้ว่าพื้นที่ที่มีความสูงเหมาะสมในการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ระยะที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ชนเผ่าม้งใน 5 จังหวัด ประกอบด้วยเชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์ สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ระยะที่ 2 จะได้มีการประเมินผลจากการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องระยะที่ 1 เพื่อกำหนดพื้นที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยพัฒนาปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ
2.2 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องการพัฒนาเฮมพ์ เพื่อสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูงได้อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องการพัฒนาเฮมพ์ ใน 5 พื้นที่ ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2554 — 2555) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและ ผลิตเมล็ดพันธุ์ การวิจัยและศึกษาวิธีการเขตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตเฮมพ์ รวมงบประมาณ 17.549 ล้านบาท ได้แก่
2.2.1 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่บ้านขุนวาง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง ระยะ 2 ปี 7 แผนงาน 12 โครงการ วงเงินรวม 4,545,000 บาท
2.2.2 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์จังหวัดน่าน ในพื้นที่บ้านถ้ำเวียงแก ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว ระยะ 2 ปี 7 แผนงาน 13 โครงการ วงเงินรวม 3,433,500 บาท
2.2.3 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่บ้านพญาเลาอู ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง ระยะ 2 ปี 7 แผนงาน 13 โครงการ วงเงินรวม 3,542,500 บาท
2.2.4 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์จังหวัดตาก ในพื้นที่บ้านใหม่คีรีราษฎร์และบ้านใหม่ยอดคีรี ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ ระยะ 2 ปี 6 แผนงาน 11 โครงการ วงเงินรวม 3,360,000 บาท
2.2.5 แผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ในพื้นที่บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า ระยะ 2 ปี 6 แผนงาน 11 โครงการ วงเงินรวม 2,668,000 บาท
3. การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติ
เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2552-2556) สู่การปฏิบัติได้เป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) จึงได้กำหนดกลไกการดำเนินงานร่วมกันในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ทั้งจากกลไกเดิมที่มีอยู่ และกลไกใหม่ที่จะจัดตั้งเพิ่มเติม ดังนี้
3.1 กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ และมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการและ เลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและ การขออนุญาตให้ผลิต
3.2 กลไกใหม่ที่จะจัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 กันยายน 2552 ได้แก่
3.2.1 คณะกรรมการประสานงานและกำกับการพัฒนาและส่งเสริมเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และมีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและ ยุทธศาสตร์การสนับสนุนเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการกำหนดแนวทางการควบคุมอนุญาตการปลูก การครอบครอง การเคลื่อนย้าย และการแปรรูปเฮมพ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การปรับปรุงนโยบาย และกำหนดแนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
3.2.2 คณะอนุกรรมการวิจัยและส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ที่มีผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานด้านการวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมเฮมพ์ในระดับพื้นที่ให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
3.3 กลไกใหม่ที่จะเสนอจัดตั้งเพิ่มเติมในแผนปฏิบัติการฯ กำหนดตามพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์ ดังนี้
3.3.1 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ระดับจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ร่วมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมเป็นอนุกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และติดตามประเมินผลเพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงาน
3.2.3 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลและหมู่บ้านร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานระดับพื้นที่ทั้งในเรื่องของการขออนุญาตปลูกการครอบครอง การเคลื่อนย้าย และการแปรรูป เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--