ขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 11:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการ

หรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

คณะรัฐมนตรี

1. เห็นชอบในหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 โดยให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติการผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือ รัฐวิสาหกิจได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ โดยเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ยกร่างขึ้นตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. เมื่อระเบียบตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับแล้ว ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เว้นแต่ในกรณีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นที่ได้มาตามนโยบายของรัฐบาล หรือหุ้นในกิจการที่กระทรวงการคลังถือครองร่วมอยู่ด้วย จะต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อนจึงจะดำเนินการได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า

1. ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้มีการขยายขอบเขตในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ประกอบกับธุรกรรมในตลาดเงินมีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว การลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดเงินและตลาดทุนที่เหมาะสมกับลักษณะเงินทุนยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนให้แก่กิจการและลดการสูญเสียโอกาสทางการเงิน ซึ่งการแสวงหาประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวหมายความรวมถึงการลงทุนในหุ้นหรือตราสารทุนของกิจการต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจำหน่ายออกไปในระยะเวลาที่เหมาะสมและ ทันท่วงทีด้วย

2. นอกจากนี้ การดำเนินกิจการของธุรกิจสถาบันการเงินเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และส่งผลกระทบต่อลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธุรกิจ จากสภาวการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจำเป็นต้องได้มาซึ่งหุ้นในกิจการต่าง ๆ ที่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และมีความจำเป็นต้องจำหน่ายหุ้นที่ได้มาดังกล่าวออกไปในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นฯ ดังนี้

3.1 รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ได้รับการยกเว้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ

3.2 รัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

4. กค.พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นฯ กำหนดให้การจำหน่ายกิจการหรือหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวงเจ้าสังกัด รวมทั้งต้องผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับวิธีการจำหน่ายและราคาจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นภายใต้ระเบียบดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติตามวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่ยุ่งยากในการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้น และไม่ทันต่อสถานการณ์ด้านราคาหุ้นที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะทำให้เกิดความไม่คล่องตัวต่อการดำเนินกิจการของสถาบัน การเงินเฉพาะกิจของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นที่ได้มาจากบริหารสภาพคล่องโดยการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งหุ้นที่รับโอนชำระหนี้จากลูกหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนสูงสุด

ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาอนุมัติการยกเว้นหรือผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ (ร่างข้อ 3 เพิ่มเติมข้อ 11)

2. ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้กำหนดวิธีปฏิบัติในการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และให้คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการตามข้อ 7 ของระเบียบฯ โดยอนุโลม (ร่างข้อ 3 เพิ่มเติมข้อ 13)

3. สำหรับกรณีของส่วนราชการที่ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ มีข้อพิจารณาว่าสมควรจะยังคงให้มีคณะกรรมการที่จะกำหนดวิธีปฏิบัติในการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ โปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของทางราชการเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ จึงได้กำหนดให้นำเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการในข้อ 6 และหน้าที่ของคณะกรรมการในข้อ 7 ของระเบียบฯ มาใช้บังคับกับกรณีนี้โดยอนุโลมด้วย (ร่างข้อ 3 เพิ่มเติมข้อ 12)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ