ขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 14:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี

1. เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 (เรื่อง ผลการประชุม คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2553) ที่ให้มีเอกชนเข้าร่วมลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและบริหารจัดการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ —บางซื่อ ในรูปแบบ PPP Gross Cost นั้น ให้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ สำหรับช่วงบางใหญ่ —เตาปูน 1 ราย ตามมติคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

2. สำหรับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ ช่วงเตาปูน — บางซื่อ เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการศึกษาให้ได้ข้อยุติในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประเด็นกฎหมาย และข้อดี — ข้อเสียในการดำเนินการตามแนวทางต่าง ๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

3. ให้กระทรวงคมนาคม (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน — บางซื่อ รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า

1. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีหนังสือที่ รฟม 007/1173 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 เสนอกระทรวงคมนาคม เรื่อง ขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สรุปได้ดังนี้

1) การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ

รฟม. มีคำสั่งที่ 61/2553 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เพื่อทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 14

2) ผลประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ

ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ (ซึ่งต่อไปนี้จะใช้คำย่อว่า “คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ”) ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 ที่ปรึกษา BBML ซึ่ง รฟม. ได้ว่าจ้างเพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยละเอียดตามประเด็นหัวข้อที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนด ตามมาตรา 7 และจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ขอบเขตโครงการ เงื่อนไขสัญญาและความเห็นประเมินการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการตามโครงการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกเชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ได้นำเสนอ รายละเอียดการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการตามโครงการ ดังนี้

2.1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีโครงสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบยกระดับ ระยะทางรวมประมาณ 23 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 16 สถานี เส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ เริ่มต้นจากสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อไปยังสถานีเตาปูนซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง และจากสถานีเตาปูนมีเส้นทางไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีคลองบางไผ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าด้วย โครงการฯ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือช่วงบางใหญ่ — เตาปูน (สถานีคลองบางไผ่ - สถานีเตาปูน) เป็นส่วนของเส้นทางสายสีม่วงฯ โดยตรง และช่วงเตาปูน — บางซื่อ (ส่วนของเส้นทางวิ่งระหว่างสถานีเตาปูนและสถานีบางซื่อไม่รวมตัวสถานี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากบางซื่อ - ท่าพระ แต่เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จึงกำหนดให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน — บางซื่อ อยู่ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับเส้นทางรถไฟสายสีน้ำเงินได้เมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้วเสร็จ โดยแบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 4 สัญญา (สัญญาที่ 1 — 3 และสัญญาที่ 6) และแบ่งสัญญางานลงทุนระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถออกเป็น 2 สัญญา (สัญญาที่ 4 ช่วงบางใหญ่ — เตาปูน และสัญญาที่ 5 ช่วงเตาปูน — บางซื่อ)

2.2) แผนการเดินรถของเส้นทางสายสีม่วงกำหนดให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการต่อจากสายสีน้ำเงินจากสถานีปลายทางที่บางซื่อผ่านเส้นทางช่วงสั้นๆ (ช่วงเตาปูน — บางซื่อ) ถึงสถานีเตาปูน และผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อไปในเส้นทางสายสีม่วงจะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีเตาปูนซึ่งกำหนดให้เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งมีรางอยู่ต่างระดับกัน และไม่เชื่อมต่อกันทางกายภาพในขณะเดียวกันผู้โดยสารที่ใช้บริการในเส้นทางสายสีม่วงที่ต้องการเดินทางต่อในสายสีน้ำเงินก็สามารถเดินทางได้ด้วยวิธีเดียวกัน

2.3) ถึงแม้ว่าเส้นทางสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน — บางซื่อ กำหนดให้อยู่ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว แต่ด้วยสภาพทางกายภาพที่รางของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีม่วงอยู่คนละระดับไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ทำให้การดำเนินโครงการในส่วนของการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถ (ซึ่งต่อไปจะใช้คำย่อว่า “ลงทุน” และจะใช้คำย่อว่า “ผู้ลงทุนฯ” สำหรับผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถ) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน และไม่เหมาะสมที่จะมีการลงทุนฯ โดยเอกชนผู้ลงทุนฯ ในสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน เพราะขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งระหว่างสถานีบางซื่อและสถานีเตาปูนไม่มีรางต่อเชื่อมเพื่อวิ่งไปรับการซ่อมบำรุงที่ศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่บางใหญ่ได้ ดังนั้น ที่ปรึกษา BBML จึงเสนอการลงทุนฯ ช่วงเตาปูน — บางซื่อ โดยเอกชนรายอื่น แยกต่างหากจากช่วงบางใหญ่ — เตาปูน ซึ่งเอกชนผู้ลงทุนฯ รายใหม่นี้จะต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับรถที่วิ่งระหว่างสถานีบางซื่อและสถานีเตาปูนสามารถวิ่งเข้าไปรับการซ่อมบำรุงได้ ซึ่งได้แก่ผู้ลงทุนฯ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายซึ่งมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่บริเวณเพชรเกษม 48 หรือผู้ให้บริการสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่บริเวณห้วยขวางอยู่แล้ว โดยในการคัดเลือกจะต้องพิจารณาข้อดี — ข้อเสีย ทางด้านเทคนิค แผนการดำเนินการและความสะดวก ฯลฯ ของผู้โดยสาร

2.4) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ พิจารณาการนำเสนอรายละเอียดการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการโครงการ โดย รฟม. และที่ปรึกษา BBML แล้ว และมีความเห็นว่า สภาพทางกายภาพของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ทำให้การดำเนินโครงการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน และในแต่ละส่วนจำเป็นต้องให้คัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแยกจากกัน นั่นคือมีความเหมาะสมที่จะให้มีการลงทุนฯ โดยเอกชน 2 ราย โดยจะดำเนินการตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่ให้มีเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ — บางซื่อในรูปแบบ PPP Gross Cost นั้น ให้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนสำหรับช่วงบางใหญ่ — เตาปูน 1 ราย และช่วงเตาปูน — บางซื่อ อีก 1 ราย

2.5) รฟม. ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ ประกอบกับการนำเสนอรายละเอียดการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการนี้ของที่ปรึกษา BBML แล้ว เห็นพ้องกับความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ ที่เห็นสมควรให้มีการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฯ 2 ราย สำหรับช่วงบางใหญ่ — เตาปูน (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) และ ช่วงเตาปูน — บางซื่อ แยกจากกัน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการดำเนินโครงการที่เกิดจากสภาพทางกายภาพได้ จึงเห็นสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 (ข้อ 2) ที่ให้มีเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ นั้น สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ สำหรับช่วงบางใหญ่เตาปูน 1 ราย และช่วงเตาปูน — บางซื่อ อีก 1 ราย

3) คค. มีหนังสือ คค ด่วนมาก ที่ คค (ปคร) 0805.2/190 ลงวันที่ 9 กันยายน 2553 เสนอเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอหารือแนวทางที่ถูกต้อง ชัดเจนในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ท 6411 ลงวันที่ 30 กันยายน 2553 แจ้งแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 (เรื่อง การติดตามการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี) อนุมัติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติว่า กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานถือปฏิบัติในเรื่องใด หน่วยงานจะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด หากหน่วยงานใดไม่สามารถปฏิบัติตามมติได้ให้เสนอขอทบทวนหรือยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีทันทีก่อนที่จะมีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีหรือ ทันทีเมื่อเริ่มมีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี

4) คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฯ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ตามที่ได้นำเสนอไว้ในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฯ ฉบับปรับปรุง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 จึงเห็นสมควรดำเนินการตามผลรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ซึ่งได้นำเสนอรูปแบบการลงทุนและการให้บริการเดินรถสำหรับช่วงเตาปูน — บางซื่อแยกเฉพาะช่วงไว้ 4 รูปแบบ และการพิจารณาศึกษาประเด็นทางกฎหมายในแต่ละรูปแบบให้ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ