ขออนุมัติแผนยุทธศาสตร์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 4 ปี และขอเงินประเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 15:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี

1. อนุมัติในหลักการของแผนยุทธศาสตร์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 4 ปี (พ.ศ. 2554-2557) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยให้กระทรวงวัฒนธรรม [หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)] รับความเห็นของสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรให้ความสำคัญกับการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากมรดกภาพยนตร์ของชาติให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงการสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมและเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรในระยะยาว อาทิ การระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนมาสนับสนุนทางด้านการเงิน การเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวาสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ และสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

2. ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการ ให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาตามความพร้อม ความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสำหรับเงินประเดิมเพื่อการจัดหาอุปกรณ์การอนุรักษ์ภาพยนตร์และขยาย ห้องเย็นเก็บรักษาภาพยนตร์ นั้น อนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 120 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดซื้ออุปกรณ์การอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยให้ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ ส่วนที่เหลือให้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) [หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)] รายงานว่า

1. ปัจจุบันหอภาพยนตร์ฯ ได้เก็บรักษาภาพยนตร์ต่าง ๆ ซึ่งจำแนกเป็น ภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ ประมาณ 50,000 เรื่อง ภาพยนตร์สารคดี ประมาณ 8,000 เรื่อง ภาพยนตร์เรื่องหรือหนังไทย ประมาณ 1,500 เรื่อง และวีดิทัศน์ประมาณ 100,000 เรื่อง สิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ได้แก่ บทภาพยนตร์ 200 เรื่อง รูปนิ่ง 23,000 รูป ใบปิดหรือโปสเตอร์ 2,500 เรื่อง หนังแผ่นหรือโชว์การ์ด 1,000 เรื่อง หนังสือ 5,000 เล่ม สูจิบัตรภาพยนตร์ 350 เรื่อง แผ่นเสียง 700 แผ่น วัตถุพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ 600 ชิ้น

2. หอภาพยนตร์ฯ ให้บริการสาธารณะใน 2 ลักษณะ คือ

2.1 การให้บริการแก่ผู้สนใจเข้ามาขอศึกษาค้นคว้าจากภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ซึ่งหอภาพยนตร์จัดให้บริการทำนองเดียวกับหอสมุดหรือหอจดหมายเหตุ และให้บริการทำสำเนาภาพยนตร์และ สิ่งเกี่ยวเนื่องโดยผู้ใช้บริการต้องปฏิบัติตามระเบียบและเสียค่าบริการ

2.2 การให้บริการแก่สาธารณชนเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้น เช่น รายการจัดฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ การแสดงนิทรรศการ การบรรยาย การอบรม รวมทั้งการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ฯ

2.3 แต่เดิมหอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นหน่วยราชการสังกัดกรมศิลปากรไม่เคยได้รับงบประมาณลงทุนในด้านการก่อสร้างอาคารและครุภัณฑ์ที่เหมาะสม ทำให้ภาพยนตร์และสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นสมบัติของชาติเสี่ยงต่อการชำรุดทรุดโทรม และทำให้หอภาพยนตร์ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจการอนุรักษ์และการให้บริการ แก่ประชาชนได้ตามที่ควร จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 4 ปี (ปี 2554-2557) เพื่อจัดสร้างอาคารและจัดหาอุปกรณ์ครุภัณฑ์สำหรับการอนุรักษ์และเผยแพร่ภาพยนตร์

2.4 สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 4 ปี (ปี 2554- 2557) มีดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการอนุรักษ์ภาพยนตร์หรือสื่อโสตทัศน์ของชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานของสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ศึกษาวิจัยเพื่อสร้างสมองค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ หรือสื่อโสตทัศน์และ สิ่งเกี่ยวเนื่องของชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การให้บริการและการเผยแพร่องค์ความรู้โดยสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากภาพยนตร์ สื่อโสตทัศน์และสิ่งเกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มทางปัญญา สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างความปรองดองแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

2.5 ตามแผนยุทธศาสตร์ของหอภาพยนตร์ดังกล่าว มีโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และบริการ โสตทัศน์แห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 และ 60 ปี ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และการให้บริการค้นคว้าศึกษา และเผยแพร่ภาพยนตร์และสื่อโสตทัศน์ทั้งหลายของชาติ ที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ขณะเดียวกันโครงการนี้จะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชาธิบดีแห่งภาพยนตร์ เพราะ “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับบุคคลที่มีปริมาณมากที่สุดและต่อเนื่องยืนนานที่สุดในโลก กล่าวคือมีจำนวนประมาณ 10 ล้านฟุต บันทึกต่อเนื่องนับจากปี 2493 เกือบทุกวัน จวบจนปีปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลา 60 ปีเต็ม ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์นี้จะสามารถรองรับความจำเป็นในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ