รายงานผลการเข้าร่วมประชุม Aichi — Nagoya Ministerial Meeting on REDD+Partnership

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 15:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเข้าร่วมประชุม Aichi — Nagoya Ministerial Meeting on REDD+Partnership

ณ เมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเข้าร่วมประชุม Aichi — Nagoya Ministerial Meeting on REDD+Partnership ณ เมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25 — 26 ตุลาคม 2553 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ตามมติคณะรัฐมนตรี (25 พฤษภาคม 2553) ประเทศไทยได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ (REDD+Partnership)โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมการประชุม Oslo Climate and Forest Conference ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ และได้รายงานผลการประชุมให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มิถุนายน 2553)

2. สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ขอเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการประชุม Aichi — Nagoya Ministerial Meeting on REDD+Partnership ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 25 — 26 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดีกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ นางสาวแสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว

3. การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยเป็นการประชุม back-to-back กับการประชุมสมัชชาอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความสำเร็จในการดำเนิน กิจกรรมและกลไกทางการเงินในการดำเนินการตั้งแต่จัดตั้งกรอบความร่วมมือ REDD+Partnership ที่สืบเนื่องมาจากการประชุม Oslo Climate and Forest Conference เมื่อวันที่ 25 — 29 พฤษภาคม 2553 ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์

4. ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 10 (The Tenth Conference of the Parties of the Convention on Biological Diversity) ณ เมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2553 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่อง REDD+Partnership (Aichi-Nagoya Ministerial Meeting on REDD+Partnership) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 โดยการประชุมดังกล่าวมีรัฐมนตรี สิ่งแวดล้อมและผู้แทนของประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุม 62 ประเทศ และมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศองค์กรเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุมด้วย

5. รัฐมนตรีประเทศต่างๆ ได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นถึงความสำคัญและความก้าวหน้าของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา บทบาทของการอนุรักษ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและการเพิ่มคาร์บอนสต๊อกในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD+Partnership) โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการเตรียมการเสริมสร้างการประสานงานของกิจกรรม REDD+ การสนับสนุนทางการเงิน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังย้ำถึงเป้าหมายในการดำเนินงานและความพยายามระดับนานาชาติในการช่วยเหลือทางการเงินในกิจกรรม REDD+

6. ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรม REDD+ ที่มีสารัตถะการดำเนินงานแบบองค์รวม อันจะเป็นประโยชน์ด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การบูรณาการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสำคัญต่อบทบาทของหุ้นส่วนความร่วมมือ REDD+ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงการปกป้อง คุ้มครอง และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีและ สิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

6.1 การยืนยันการให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมกิจกรรม REDD+ ของประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศอิตาลี สหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศได้กล่าวถึงการยืนยันให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจกรรม REDD+ ที่เคยให้ไว้ในการประชุมที่ผ่านมา ได้แก่ ประเทศแคนาดา ประเทศเยอรมันนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวีเดน และสหรัฐอเมริกา

6.2 ผลการดำเนินงาน REDD+Partnership ในปี 2553

ที่ประชุมชื่นชมความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมภายใต้ REDD+Partnership โดยจำนวนสมาชิกของหุ้นส่วนความร่วมมือมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินงานโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาร่วมมีบทบาทตามความเหมาะสม นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามโปรแกรม REDD+Partnership ปี 2553 ในส่วนของความโปร่งใสด้านการเงินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง website ที่จัดทำเพื่อการแลกเปลี่ยนและสื่อสารข้อมูล อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงาน REDD+ ได้อย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของการลดช่องว่างและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนทางการเงิน โดยให้เพิ่มศักยภาพ การดำเนินงานและการสนับสนุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2553

6.3 ทิศทางของกิจกรรม REDD+Partnership ในอนาคต

ที่ประชุมเห็นความสำคัญของความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามเอกสาร REDD+Partnership และโปรแกรมงานที่พัฒนาขึ้น และได้ให้ความเห็นชอบที่จะให้หุ้นส่วนความร่วมมือดำเนินการเสริมศักยภาพทางการเงินและกิจกรรม REDD+ โดยการเสริมสร้างความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงาน โดยการขยายเวลาการดำเนินกิจกรรมภายใต้โปรแกรมงานปี พ.ศ. 2553 ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการต่อไปในปี พ.ศ. 2554 — 2555 ซึ่งได้แก่การจัดตั้งหน่วยงานรองรับ (institutional arrangement) ด้าน REDD+ การเตรียมความพร้อมในการเสริมศักยภาพด้าน REDD+ การจัดทำโครงการนำร่องด้าน REDD+ กิจกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของผลสัมฤทธิ์ (result based action) REDD+ ที่มีกระบวนการรายงาน ติดตามผล และตรวจสอบได้ และการเพิ่มศักยภาพด้านการเงิน (scaling up finance) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงความจำเป็นจะต้องจัดทำโปรแกรมงานปี พ.ศ. 2554 — 2555 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ที่ประชุมได้เน้นย้ำจุดยืนของหุ้นส่วนความร่วมมือว่าควรมีการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ งานได้มากกว่าที่ใช้เรื่องนี้เป็นเวทีของการเจรจาต่อรอง โดยการดำเนินงานจะต้องทำให้เกิดความมั่นใจในการสื่อสารอย่าง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเปิดเผยต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

6.4 REDD+Partnership และความสำเร็จของ UNFCCC COP

ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของหุ้นส่วนความร่วมมือ REDD+ ในการใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความร่วมมือเสริมศักยภาพกิจกรรมด้าน REDD+ และความช่วยเหลือทางการเงิน อันจะช่วยผลักดันและส่งเสริมกลไกที่สามารถสร้างแรงจูงใจทางบวกทางนโยบายและกิจกรรมด้าน REDD+ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ทั้งนี้ ที่ประชุมคาดหวังว่าการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไปของ REDD+Partnership จะทำให้กลไกของ REDD+ ภายใต้ UNFCCC จะได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 ณ เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ