การเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนเพื่อจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 15:35 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนเพื่อจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนเพื่อจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุน Tsunami Regional Trust Fund (Multi-Donor Voluntary Trust Fund on Tsunami Early Warning Arrangements in the Indian Ocean and Southeast Asia) เป็น “ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate Preparedness in Indian Ocean and Southeast Asia Countries”

2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในร่างความตกลงฉบับแก้ไขของกองทุนฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานเกี่ยวกับสถานะของกองทุนฯ (การเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุน) นั้น

1. ESCAP ได้หยิบยกข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อกองทุนฯ จากเดิม Multi-Donor Voluntary Trust Fund on Tsunami Early Warning Arrangements in the Indian Ocean and Southeast Asia) เป็น “ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate Preparedness in Indian Ocean and Southeast Asia Countries” ขึ้นหารือในการประชุมสภาที่ปรึกษา ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและสวีเดนในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษามีท่าทีไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยผู้แทนไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าเรื่องดังกล่าวอาจต้องผ่านการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี ที่ประชุมจึงมีมติให้ ESCAP จัดทำข้อเสนอดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และให้สมาชิกสภาที่ปรึกษามีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการเช่นกัน

2. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า

2.1 การขยายขอบเขตของกองทุนฯ จะส่งผลกระทบด้านจำนวนประเภทของภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ กองทุนฯ จะรับผิดชอบภัยพิบัติประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากสึนามิ อาทิ พายุไซโคลน น้ำท่วม แผ่นดินไหว แต่จะไม่ส่งผลกระทบด้านภารกิจและขอบเขตด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากกองทุนฯ จะยังคงจำกัดภารกิจอยู่ที่การเตือนภัยล่วงหน้า และไม่มีการเพิ่มจำนวนประเทศที่สามารถขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ โดย ESCAP ได้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนฯ ซึ่งประกอบด้วย หลักการและเหตุผล และแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ (Strategic Plan) ซึ่งในคราวประชุมสภาที่ปรึกษา ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ได้เห็นชอบแล้วภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐบาลไทยจะเห็นชอบการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนฯ ต่อไป

2.2 ประโยชน์ที่ ESCAP คาดว่าจะได้รับจากการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนฯ คือ 1) การเตือนภัยสึนามิจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีความเชื่อมโยงกับการเตือนภัยพิบัติประเภทอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ศูนย์เตือนภัยพิบัติที่รับผิดชอบภัยพิบัติหลายประเภทมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและมีโอกาสอยู่รอดในด้านงบประมาณสูงกว่าศูนย์เตือนภัยสึนามิเพียงประเภทเดียว และ 2) การขยายขอบเขตกองทุนฯ ให้ครอบคลุมภัยพิบัติประเภทอื่นๆ น่าจะช่วยดึงดูดผู้บริจาคที่ให้ความสำคัญกับภัยพิบัติประเภทอื่นๆ ให้บริจาคเงินเข้าสู่กองทุนฯ ได้ เนื่องจากสึนามิเป็นภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยครั้งมากเมื่อเทียบกับภัยธรรมชาติประเภทอื่นๆ

3. กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับ ESCAP จัดทำร่างความตกลงฉบับแก้ไขเพื่อให้สาระของร่างความ ตกลงสอดคล้องกับชื่อและขอบเขตใหม่ของกองทุนฯ แล้ว และเห็นว่า

3.1 ร่างความตกลงฉบับแก้ไขเป็นการแก้ไขความตกลงเดิม ซึ่งประเทศไทยเป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว เพื่อขยายกรอบในการใช้เงินกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากภัยสึนามิ โดยจะเป็นการใช้เงินในกองทุนฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งรัฐบาลไทยได้เคยบริจาคไปแล้ว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยไม่มีภาระผูกพันทางการเงินเพิ่มเติม โดยผลจากการทำความตกลงฉบับนี้ ประกอบเหตุผลข้างต้นจึงเห็นว่าร่างความตกลงฯ ดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

3.2 การเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนฯ น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของไทย เนื่องจากไทยมีสถานะเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดสำหรับกองทุนฯ และมีโอกาสสูงที่จะคงสถานะดังกล่าวไว้ในอนาคตอันใกล้โดยไม่ต้องบริจาคเพิ่มเติม ดังนั้น เมื่อกองทุนฯ ได้รับอนุมัติให้สนับสนุนโครงการเตือนภัยพิบัติประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากภัยสึนามิ บทบาทของไทยในฐานะผู้สนับสนุนการเตือนภัยพิบัติในภูมิภาคก็จะได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

3.3 กต.ได้สอบถามความคิดเห็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) และกระทรวงมหาดไทยแล้ว และได้รับแจ้งจาก ทก. ว่าเห็นชอบในหลักการและเห็นชอบต่อร่างความตกลงฉบับแก้ไขดังกล่าว

3.4 ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดียประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่ใช่สึนามิเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลไทยสามารถให้ความเห็นชอบต่อการเปลี่ยนชื่อและขยายขอบเขตของกองทุนฯ ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะช่วยให้กองทุนฯ สามารถเปิดรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติประเภทอื่น ๆได้ทันทีตั้งแต่รอบการเปิดรับสมัครโครงการรอบถัดไป (ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2554) และสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นในการพัฒนาระบบการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาคได้อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ