รายงานผลการเดินทางไปราชการ ณ เมืองนาราและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 15:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเดินทางไปราชการ ณ เมืองนาราและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเดินทางไปราชการ ณ เมืองนาราและกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รายงานว่า

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 6 (The 6th APEC Tourism Ministerial Meeting) ในวันที่ 22 - 23 กันยายน 2553 ณ เมืองนารา และเข้าร่วมงาน JATA World Tourism Congress and Travel Fair (JATA) 2010 ในวันที่ 24 - 26 กันยายน 2553 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

2. กก. โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) รายงานผลการเดินทาง โดยสรุปดังนี้

2.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 6 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 21 ประเทศ การประชุมครั้งนี้มี Theme ว่า “Change and Action” ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างงาน การขจัดความยากจน และต้องการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องตรงกันให้เสนอผู้นำเอเปคว่าควรกล่าวถึง “ความสำคัญของการท่องเที่ยวในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างความเจริญให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ในปฏิญญาเอเปคซึ่งมีกำหนดจัดที่เมืองโยโกฮามาในครั้งต่อไป เพื่อยกระดับการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการท่องเที่ยวและบทบาทในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เวทีอื่นๆ ในเอเปคและผู้กำหนดนโยบายกล่าวถึงประเด็นที่มีผลต่อการท่องเที่ยวรวมทั้งส่งเสริมการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

2.2 ที่ประชุมขอให้คณะทำงานท่องเที่ยวเอเปคจัดทำแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค (APEC Tourism Strategic Plan: ATSP) ให้แล้วเสร็จ และตกลงรับแผนยุทธศาสตร์ฯ ในการประชุมระดับคณะทำงานท่องเที่ยว เอเปค ครั้งที่ 38 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนเมษายน 2554 และขอให้คณะทำงานท่องเที่ยวเอเปคนำข้อมูล/ข้อสรุปที่ได้จากรายงานข้างต้น (Independent Assessment) มาใช้ในการจัด ทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาโซล และ “APEC Tourism Charter” ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 1 มีมติรับในปี 2543 และขอบคุณ SOM Steering Committee on ECOTECH (SCE) ที่จัดทำ Independent Assessment แล้วเสร็จ และขอให้ SCE พิจารณาให้คำแนะนำรวมทั้งให้ความสนใจในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่นอกเหนือกรอบอำนาจของคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ เสนอและสนับสนุนโครงการใหม่ๆ มากขึ้น และให้มีการทบทวนโครงการต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนในอนาคตของคณะทำงานท่องเที่ยวเอเปค เช่น แผนปฏิบัติการเอเปคในการป้องกันและดำเนินการในเรื่องโรคระบาด ซึ่งคณะทำงานท่องเที่ยวเอเปคจะต้องร่วมมือกับคณะทำงานอื่น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญที่กำหนดไว้ รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยว ครั้งที่ 7 ในปี 2555 สหพันธรัฐรัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

2.3 ในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยว่า ได้รับผลกระทบทางลบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ได้ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนรวม 14.1 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึงร้อยละ 7 และมั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนถึง 14.5 ล้านคน ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งนำเสนอมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวต่างๆ ของ กก. ภายหลังเกิดเหตุวิกฤตทางการเมือง

2.4 การเข้าร่วมงาน JATA World Tourism Congress and Travel Fair (JATA) 2010 ในวันที่ 24 - 26 กันยายน 2553 ณ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานส่งเสริมการขายสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น จัดโดยสมาคมบริษัทนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents) และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 22 มีหน่วยงานการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมงาน 139 ประเทศทั่วโลก ร่วมออกบูธจำนวน 685 หน่วยงาน และมีผู้สนใจเข้าชมงานจำนวนทั้งสิ้น 111,232 คน จำแนกเป็นหน่วยงานด้านท่องเที่ยวจำนวน 39,492 คน และบุคคลทั่วไป จำนวน 71,740 คน คูหาประเทศไทยตลอด 3 วัน มีผู้มาติดต่อธุรกิจ และขอข้อมูลข่าวสารทางการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากโดยแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นหาดทราย ชายทะเล ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหารไทย และนวดแผนไทย ทั้งนี้ การจัดสาธิตศิลปวัฒนธรรมไทยและการจัดกิจกรรมภายในคูหาประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดให้ผู้เข้าร่วมงานสนใจประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่เข้าร่วมงาน จำนวน 15 ราย ทั้งหมดมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมงานและมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมงาน JATA ในปีต่อไปจำนวน ร้อยละ 73.14

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ