รายงานผลการประชุม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการประชุมระหว่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ ผู้แทนกรรมาธิการยุโรป

ด้านการเกษตร ณ กรุงบรัสเซลส์

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมระหว่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ผู้แทนกรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตร ณ กรุงบรัสเซลส์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้โปรดอนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายศุภชัย โพธิ์สุ) เดินทางไปราชการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 20 — 27 กันยายน 2553 เพื่อประชุมหารือข้อราชการกับผู้แทนกรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตรและพัฒนาชนบทและสมาพันธ์เกษตรกรกลางของสหภาพยุโรป โดยในการเยือนครั้งนี้ได้เข้าพบกับ Deputy Director General, DG-AGRI CULTURE (Mr. Jerzy Bodgan Plewa) และ Secretary General, Mr. Pekka Pesonen ตามลำดับ สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

1. การหารือกับผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตร (DG-AGRI)

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 (10.00 — 14.00 น.) ได้เข้าหารือกับ Mr. Jerzy Bodgan Plewa Deputy Director General for International Affairs ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรของประเทศโปแลนด์ โดยในการหารือครั้งนี้ ได้สอบถามถึงรายละเอียดกลไกการให้เงินช่วยเหลือภาคการเกษตร ภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (Common Agricultural Policy : CAP) โดยมุ่งหวังที่จะได้รับทราบรายละเอียดและรูปแบบการพัฒนาความช่วยเหลือเกษตรกรของสหภาพ โดยสรุป CAP ของสหภาพยุโรปได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการให้เงินอุดหนุนจากรายสินค้าในอดีตมาเป็นรูปแบบการให้เงินอุดหนุนตามจำนวนพื้นที่การเกษตร ในรูปแบบการจ่ายตรงให้เกษตรกร ซึ่งรูปแบบนี้สามารถกระทำได้ภายใต้ WTO เนื่องจากไม่เป็นการให้เงินอุดหนุนที่มีกลไกบิดเบือนราคาสินค้า ในรายละเอียดของการให้เงินอุดหนุนนั้นได้แบ่งนโยบายเป็น 2 ด้าน ได้แก่ การจ่ายเงินโดยตรงที่กล่าวข้างต้น และรูปแบบการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท (Rural Development) การจ่ายเงินในส่วนที่สองนี้เป็นการจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมจากการจ่ายในส่วนแรก อาทิเช่น การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สหภาพฯ จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมให้อีกจำนวนหนึ่ง ต่อข้อซักถามถึงรายละเอียดการให้เงินอุดหนุนทั้งสองส่วน ทางฝ่าย อียู สรุปให้ทราบว่ามีการจัดทำตารางการให้เงินอุดหนุนตามพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละประเทศ โดยเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยไม่เท่ากัน แต่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 270 — 700 ยูโร ต่อ เฮกตาร์ นอกจากนี้ สหภาพฯ แจ้งว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างมาตรการ CAP ฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 2014 — 2021 โดยอยู่ระหว่างการจัดทำและหารือกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งร่วมทั้งกลุ่มเกษตรกร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังได้หารือประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างกลุ่มเกษตรกร และองค์การเกษตรกรของสหภาพ เนื่องจากทราบว่ากลุ่มเกษตรกรของสหภาพยุโรปมีบทบาทสำคัญในการล๊อบบี้ และเจรจาด้านนโยบายกับรัฐบาลยุโรป ทางฝ่ายสหภาพ แจ้งว่าองค์การเกษตรกรของสหภาพมีความสำคัญมากเนื่องจากมีสมาชิกมากถึง 14 ล้านคน และมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ DG-AGRI โดยจะมีการหารือและกำหนดนโยบายร่วมในทุกระดับ ทั้งนี้ องค์กรด้านการเกษตรของสหภาพฯ มีลักษณะเป็น 2 มิติ ประสานกันคือองค์กรจัดตั้งตามกลุ่มสินค้า และจัดตั้งตามพื้นที่

ในที่ประชุม ได้เสนอขอความร่วมมือฝ่ายสหภาพที่จะช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และประสบการณ์ในการจัดตั้งกลุ่มองค์การเกษตรกร และกลไกการทำงาน เพื่อให้นโยบายการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ของไทยบรรลุผลประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ซึ่งในเรื่องนี้ ทางฝ่ายสหภาพยินดีให้ความร่วมมือตามที่ฝ่ายไทยเสนอ ซึ่งอาจเป็นไปในรูปแบบการจัดสัมมนาร่วมกัน

สำหรับประเด็นที่ทางฝ่ายสหภาพได้หยิบยกขึ้นหารือ ได้แก่ประเด็นการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) ฝ่ายสหภาพได้แจ้งว่าเข้าใจดีถึงกลไกภายในของไทย ที่เกี่ยวกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และขอทราบความคืบหน้า โดยได้ชี้แจงว่า จากรายงานล่าสุดของทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ กระทรวงพาณิชย์ได้เสร็จขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ และอยู่ระหว่างนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ และนำเข้าสู่กระบวนการสภาต่อไป โดยได้ฝากประเด็นความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทยที่มีประชากรจำนวนมากอยู่ภาคเกษตรและส่วนใหญ่เป็นประชากรที่มีฐานะยากจน ดังนั้นไม่อยากให้ทางฝ่ายสหภาพฯ เห็นว่าประเทศไทยเป็นคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรในเวทีโลก แต่อยากให้การจัดทำ FTA ครั้งนี้ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับฐานะเกษตรกรให้พ้นความยากจนได้กล่าวทิ้งท้ายว่าหากกรอบเจรจาเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่กล่าวไว้ ยินดีให้การสนับสนุนการเจรจาดังกล่าว

2. การหารือกับองค์กรกลางเกษตรกรแห่งสหภาพยุโรป (COPA-COGECA)

คณะได้เข้าหารือกับ นาย Pekka Pesonen เลขาธิการองค์กรกลางเกษตรกรแห่งสหภาพยุโรป (Secretary General COPA-COGECA) ในการประชุมนาย Pekka ได้กล่าวต้อนรับคณะของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ของประเทศไทย ซึ่งโดยปกติ COPA-COGECA มิค่อยได้หารือร่วมกับภาครัฐของประเทศที่สาม ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย ดังนั้น จึงได้ชี้แจงให้ นาย Pekka ทราบว่าวัตถุประสงค์หลักที่มาหารือในวันนี้ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายได้ผ่านสภาและจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 — 3 เดือน จึงอยากทราบถึงรูปแบบการจัดการองค์กรของ Copa-Cogeca และการบริหารรวมทั้งระบบงบประมาณ

นาย Pekka แจ้งว่าองค์กรเป็นองค์กรกลางสำหรับกลุ่มเกษตรกร COPA และกลุ่มสหกรณ์ COGECA โดยมีสมาชิก 14 ล้านคน ภายใต้องค์กรย่อยระดับประเทศอีก 77 องค์กร คณะกรรมการบริหารแบ่งเป็น 2 คณะ จากส่วนที่ได้รับการเลือกตั้งของ COPA และ COGECA สำหรับหน่วยงานกลางนี้ทำหน้าที่หลักในการ Lobby และจัดการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกในประเด็นต่างๆ โดยงบประมาณส่วนใหญ่เรียกเก็บจากสมาชิก รัฐจะอุดหนุนในกรณีที่องค์กรดำเนินการจัดการประชุมสัมมนา ต่อข้อถามถึงประเด็นด้านการทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการกลางของสหภาพ COPA-COGECA ทำหน้าที่ทั้งในส่วนการให้คำปรึกษาระดับนโยบาย และการทำงานแบบมีส่วนร่วมในคณะทำงานย่อยต่างๆ ของสหภาพซึ่งมีอยู่หลายสิบคณะ ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากเกษตรกรจะผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานภายในและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารก่อนเสนอคณะกรรมาธิการต่อไป ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการพิจารณาความเห็นจากคณะกรรมาธิการฯ ก็สามารถใช้กลไกสภายุโรป และการเดินขบวนเป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการกำหนดนโยบายอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามในภาพรวม COPA-COGECA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรของรัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร

ในส่วนความร่วมมือในอนาคตกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ของประเทศไทยนั้น COPA-COGECA ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในขั้นตอนและขบวนการต่างๆ โดยได้เสนอให้มีการจัดสัมมนาถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในประเทศไทยต่อไป

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมและการดำเนินงานขยายผลจากการหารือครั้งนี้

ก. สหภาพยุโรปมีความรู้และมีประสบการณ์ยาวนานในการปกป้องภาคการเกษตร และมีระบบการให้การอุดหนุนภาคการเกษตรถึงปีละ 35,000 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหภาพ โดยงบประมาณดังกล่าว นำไปอุดหนุนภาคการเกษตรให้สามารถแข่งขันกับภาวะการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะใช้งบประมาณอุดหนุนที่สูงมากดังกล่าว เกษตรกรในสหภาพก็ยังมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายได้ประชากรที่ทำงานในเมืองถึงร้อยละ 50 สำหรับรูปแบบการอุดหนุนสหภาพได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ WTO ดังนั้น การนำรูปแบบมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับไทยโดยการวิเคราะห์ข้อดีและ ข้อเสีย รวมทั้งความพร้อมของประเทศไทยด้านกรอบนโยบายและงบประมาณจึงมีความสำคัญอย่างเร่งด่วน จึงได้สั่งการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการเชิญผู้แทนทั้งในส่วนของ DG-AGRI และ COPA-COGECA เดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ กับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ และผู้นำกลุ่มเกษตรกรต่อไป

ข. ในส่วนของการจัดทำ FTA จากการหารือครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักว่าภายใต้ภาวการณ์แข่งขันการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการปรับตัวขึ้นลงของระดับราคาสินค้าซึ่งทำให้บางช่วงสินค้าเกษตรมีราคาแพงและขาดตลาดนั้น ฝ่ายไทยมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณากรอบการเปิดตลาดการค้าเสรี FTA ไทย — อียู อย่างรอบคอบและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ดังนั้น จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการเจรจาเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร เป็นคณะทำงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธานคณะทำงาน ทั้งนี้ การประสานงานการเจรจาระหว่างกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ขอให้ดำเนินการผ่านคณะทำงานดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ