สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 16:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนตุลาคม 2553 ของกระทรวงคมนาคม สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมขอรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งในความรับผิดชอบประจำเดือนตุลาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนตุลาคม 2552 สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนกันยายน 2553 กับเดือนตุลาคม 2553 ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และระบบ TRAMS จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09:00 น. ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนตุลาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนตุลาคม 2552

สาขาการขนส่ง          อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)            ผู้บาดเจ็บ (ราย)                 ผู้เสียชีวิต (ราย)
                   ต.ค.52   ต.ค.53     เปรียบ     ต.ค.52  ต.ค.53     เปรียบ     ต.ค.52  ต.ค.53     เปรียบ
                                        เทียบ                         เทียบ                         เทียบ
ถนน                   795      440   -44.70%        531     480    -9.60%         77      75    -2.60%
จุดตัดรถไฟกับถนน           9        8   -11.10%          3      14   366.70%          9       4   -55.60%
ทางน้ำ                   1        3      200%          2       1   -50.00%          0       0         -
ทางอากาศ                0        0         -          0       0         -          0       0         -
รวม                   805      451   -44.00%        536     494    -7.80%         86      79    -8.10%

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนตุลาคมของปี 2552 กับปี 2553 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 44 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.8 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 8.1 และเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนตุลาคม 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 97.6 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 97.2 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 94.9 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนตุลาคม 2553 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด มีสถิติที่ลดลงร้อยละ 34 และการตัดหน้ากระชั้นชิด มีสถิติลดลงร้อยละ 26.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปี 2552 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2. สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนกันยายน 2553 กับเดือนตุลาคม 2553

          ข้อมูลอุบัติเหตุ              ก.ย. 53         ต.ค. 53      รวม (ม.ค. — ต.ค. 53)
          อุบัติเหตุ (ครั้ง)              680        440 (-35.3%)            9,873
          ผู้เสียชีวิต (ราย)              80         75  (-6.3%)            1,320
          ผู้บาดเจ็บ (ราย)             467        480  (+2.8%)            8,878

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 9,873 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 1,320 ราย และผู้บาดเจ็บ 8,878 ราย โดยในเดือนตุลาคม 2553 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ และจำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2553

3. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน กระทรวงคมนาคมขอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

3.1 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ โดยในเดือนตุลาคม 2553 ได้ดำเนินการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 117,073 ราย ไม่ผู้ขับขี่ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด

3.2 การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย และโค้งอันตราย โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการรวบรวมรายงานการเกิดอุบัติเหตุและแนวทางแก้ไขจากหน่วยงานแขวงการทาง และสำนักงานบำรุงทางทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 501 แห่ง ครบตามแผนที่กำหนดไว้คิดเป็นร้อยละ 100

3.3 การยกระดับความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายของกรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ และสายทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งแล้วจำนวน 774 แห่ง และได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยงานทางให้กับประชาชนแล้ว จำนวน 3,450 คน

4. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2553 เวลาประมาณ 17.00 น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถ ขับมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณทางลงด่านฯ คลองประปา 1 หลัก กม. ที่ 10+900B ทิศทางจากพญาไท มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นทางแยก ขณะเกิดเหตุสภาพอากาศปกติ รถคันดังกล่าวได้ชนหัวเกาะทางแยกเสียหลักตกจากทางพิเศษลงไปบนถนนพระราม 6 ซึ่งมีความสูงประมาณ 15 เมตร ซึ่งรถคันดังกล่าวใช้แก็ส NGV และได้เกิดไฟลุกไหม้ทั้งคัน ในที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล จำนวน 1 ราย และบาดเจ็บสาหัส 8 ราย ซึ่งจากผลการวิเคราะห์อุบัติเหตุข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในภาคการขนส่งทางถนน ดังนี้

4.1 ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรง ซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น และการแก้ไขปรับปรุงโค้งอันตรายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

4.2 ให้กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง จำกัด ยังคงดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2553 มีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะ (ทั้งจากรถโดยสารและคู่กรณี) โดยมีผู้เสียชีวิต 18 ราย จากค่าเฉลี่ย 17 ราย และผู้บาดเจ็บ 251 ราย จากค่าเฉลี่ย 216.3 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10.6 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ จากยอดสะสมตั้งแต่ มกราคม ถึง ตุลาคม 2553)

4.3 ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลทางพิเศษ (กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) เพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็ว รวมถึงการพิจารณานำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ดำเนินการตรวจจับความเร็วของรถ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในบริเวณเดียวกันและบริเวณที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ