คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยหนาว อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ พายุดีเปรสชัน (ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2553)
1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 15 - 21 พ.ย. 2553)
1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 15 - 17 พ.ย. 2553 บริเวณความกดอากาศสูงแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน หรือที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ย. 2553 ความกดอากาศสูง และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนลดลงและคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง
1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร ของประชาชน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
2. สถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน (วันที่ 10 ต.ค. - 15 พ.ย. 2553)
2.1 ระหว่างวันที่ 10 ต.ค. - 15 พ.ย. 2553 มีจังหวัดที่ประสบภัยทั้งสิ้น 39 จังหวัด413 อำเภอ 3,021 ตำบล 25,725 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 155 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,975,350 ครัวเรือน 6,930,748 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 6,316,156 ไร่
ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 49 อำเภอ 390 ตำบล 2,545 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 206,405 ครัวเรือน 718,031 คน ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี
2.2 สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤศจิกายน 2553 อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีพื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 856 ตำบล 5,991 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 72 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 548,258 ครัวเรือน 1,732,473 คน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร และจังหวัดระนอง
ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวม 4 จังหวัด 45 อำเภอ 324 ตำบล 2,800 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 210,206 ครัวเรือน 672,098 คน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง
2.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน
2.3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค พร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยมเยียนราษฎรและมอบถุงยังชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี รวม จำนวน 5,300 ถุง
2.3.2 การแจกจ่ายน้ำดื่มแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยและให้จัดหาน้ำดื่มสะอาดมอบแก่ ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งขณะนี้มีรายงานผลการแจกจ่ายน้ำ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี รวม จำนวน 3,232,361 ลิตร
3. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยหนาว
3.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบแก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวม จำนวน 94,850 ครอบครัว
3.2 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 130,622 ชุด น้ำดื่ม 11,014,320 ขวด ผ้าห่ม 2,200 ผืน เสื้อกันหนาว 1,000 ตัว แก๊สหุงต้ม 1,050 ชุด หม้อเมเยอร์ 1,000 ใบ รถผลิตน้ำดื่ม 3 คัน หน่วยครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทย และเรือท้องแบน 7 ลำ
3.3 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 18,350 ชุด นมเม็ดจิตรลดา 700 ลัง นมน้ำจิตรลดา 400 ลัง และส้วมสำเร็จรูป 600 ชุด
3.4 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงให้ผู้แทนพระองค์เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 17,102 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง
3.5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) และคณะ นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี รวม จำนวน 1,000 ชุด
สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤศจิกายน 2553)
1. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ณ กรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย และที่จังหวัดทุกจังหวัดด้วย
2. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤศจิกายน 2553)
ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เพชรบูรณ์ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น นครพนม เลย สกลนคร หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี รวม 177 อำเภอ 1,243 ตำบล 14,466 หมู่บ้าน
3. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน
3.1 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 13 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิไปแล้ว รวม 147,235 ชิ้น
3.2 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว
4. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว
กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สกลนคร ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และจังหวัดพะเยา ในระหว่างวันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2553 รวม จำนวน 10,000 ชุด
5. การตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- เมื่อวันที่ 10 - 11 พฤศจิกายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายวิบูลย์ สงวนพงศ์) ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบเครื่องกันหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
การเตรียมการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ปี 2553
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ปี 2553 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยอันเกิดจาก พลุ ปะทัด ดอกไม้ไฟ และอุบัติเหตุจากการจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติภัยทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้
1. กำชับให้นายทะเบียนท้องที่เข้มงวด กวดขัน การพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาต ให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมทั้งตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิง
2. กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจตราอาคารสถานที่ใด โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร ที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง
3. ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่รับผิดชอบเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้
4. กำชับให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ที่จะจัดงานเทศกาลวันลอยกระทง เตรียมการป้องกันและระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดอุบัติภัยจากการจุดพลุ ปะทัด หรือดอกไม้เพลิง รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำในบริเวณใกล้เคียงสถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับลอยกระทง สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศนั้น มีโอกาสเกิดพายุ ฝนฟ้าคะนองและวาตภัย จึงขอให้เข้มงวดในการดูแลสิ่งปลูกสร้างในบริเวณการจัดงาน ให้มีความมั่นคงแข็งแรงด้วย
5. กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยทางถนน และเข้มงวด กวดขัน ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน
6. จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และอุบัติภัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติภัยทางน้ำ จัดระเบียบและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อย และเฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจัดงานเทศกาลวันลอยกระทง บริเวณโป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร สถานที่ริมน้ำ สำหรับประชาชนใช้ลอยกระทง และเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย รวมทั้งความปลอดภัยของเรือโดยสาร พร้อมทั้งจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างและกู้ภัย เตรียมความพร้อมประจำ ณ สถานที่ที่มีผู้ไปร่วมงานประเพณีลอยกระทง
7. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าซึ่งดอกไม้เพลิงได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึง สถานที่จัดงานประเพณี กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง
8. หากเกิดอัคคีภัยหรืออุบัติภัยที่ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทราบทันที ทางโทรศัพท์/โทรสาร หมายเลข 0-2241-7450-5 หรือสายด่วนนิรภัย 1784
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--