แผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 17:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2553 กระทรวงคมนาคม

และมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลแผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2553 กระทรวงคมนาคม และมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคม

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปีจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางเพื่อไปร่วมกิจกรรมตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ถูกจัดขึ้นบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ตามแนวชายฝั่ง และแหล่งชุมชนเมือง โดยเฉพาะรูปแบบของกิจกรรม เช่น การปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อการบิน และอากาศยาน ประกอบกับในปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ซึ่งในเทศกาลลอยกระทงที่ใกล้จะมาถึงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 คาดว่าแหล่งน้ำต่างๆ จะยังคงมีปริมาณน้ำในระดับที่สูงและมีลักษณะไหลเชี่ยว ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างการดำเนินกิจกรรมในวันลอยกระทงของประชาชนได้

กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2553 และมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ภารกิจหน้าที่ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมปฏิบัติงาน จำนวน 15 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมการบินพลเรือน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เป้าหมาย

1.1 การจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วน กรณีเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ

1.2 ต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำและความสูญเสียจากประชาชนที่ร่วมกิจกรรมตามประเพณีลอยกระทง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเรือโดยสารและท่าเรือในความรับผิดชอบ

1.3 กำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยโคม เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายร้ายแรงอันอาจจะกระทบต่อการบินและอากาศยาน และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้

1.4 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่และความรับผิดชอบ โดยประชาชนต้องมีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุด

1.5 ไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

2. แผนงาน

แผนปฏิบัติการฯ เทศกาลลอยกระทง ปี 2553 ของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก และ 1 มาตรการ ดังนี้

2.1 แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก

การจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่มีหน้าที่จัดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางเตรียมความพร้อมและจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมในเทศกาลลอยกระทงอย่างเพียงพอ โดยให้ดำเนินการ

2.1.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

จัดเตรียมความพร้อมของสถานีขนส่ง/ท่ารถประจำทาง ขสมก./สถานีรถไฟ จำนวนรถโดยสาร บขส. รถประจำทาง ขสมก. รถร่วมบริการ รถโดยสารไม่ประจำทาง และขบวนรถไฟ ให้เพียงพอในการให้บริการ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

2.1.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

การประชาสัมพันธ์การให้บริการและอำนวยความสะดวกของหน่วยงานทาง รับเรื่องร้องเรียนการให้บริการ จัดให้มีศูนย์ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เชื่อมโยงเครือข่าย ประสาน การช่วยเหลือ บรรเทา และแก้ไขปัญหาการเดินทางให้แก่ประชาชน รวมถึงการบำรุงรักษาทางหลวง ระบบจราจร เครื่องหมาย ป้าย สัญญาณไฟ ให้อยู่ในสภาพดี

2.1.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

จัดเครื่องบินโดยสาร เจ้าหน้าที่จราจร และอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวก ให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน

2.1.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

การจัดทำแผนรักษาการณ์ทางน้ำและออกประกาศคำสั่งเพื่ออำนวยความสะดวก ควบคุม ดูแลการเดินเรือและการใช้เรือ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเทศกาลลอยกระทง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร กองบังคับการตำรวจน้ำ สถานีตำรวจนครบาลที่รับผิดชอบพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมูลนิธิต่างๆ จัดเรือตรวจการณ์และเรือยนต์ รวมถึงการจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรทางน้ำและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน

2.2 แผนงานด้านความมั่นคง

การบริการขนส่งสาธารณะของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีความเสี่ยงสูง ต่อการเป็นเป้าหมายของการก่อวินาศกรรม เพื่อลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ และเมื่อเกิดเหตุการณ์และสถานการณ์ฉุกเฉินมักจะเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา ดังนั้น หน่วยงาน ของกระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องเข้มงวดและวางระบบการป้องกันพื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วย

2.2.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

จัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลพื้นที่สถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้า และบริเวณโดยรอบพื้นที่จอดรถยนต์ ตรวจตรารถยนต์ที่เข้าไปในอาคารจอดรถ เข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ และเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา เข้มงวดในการสังเกตบุคคล สัมภาระ ต้องสงสัย หรือที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ รวมถึงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ

2.2.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางและสะพาน และเพิ่มเติมเฉพาะเส้นทาง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และสะพานข้ามแม่น้ำที่สำคัญในความรับผิดชอบ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคลต้องสงสัย และสิ่งผิดปกติ หรือสิ่งของที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ และเพิ่มความถี่ในการตรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่

2.2.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตรวจตรารถยนต์ที่จอดตามแนวชานชลาอาคารที่พักผู้โดยสาร ที่จอดรถยนต์ ตรวจรถยนต์ที่เข้าไปจอดในอาคารจอดรถ เข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ และเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา ในพื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบ เข้มงวดในการตรวจค้นบุคคล สัมภาระ และเพิ่มมาตรการสุ่มตรวจ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านการข่าว หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน ของท่าอากาศยานหรือสนามบิน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่สายการบินเข้มงวดการตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคลและสิ่งผิดปกติ ทั้งก่อนและขณะทำการบิน

2.2.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจบุคคล ยานพาหนะ ที่ผ่านเข้าออกท่าเรือทั้งทางบกและทางน้ำ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคล ต้องสงสัย และสิ่งผิดปกติหรือสิ่งของที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของในบริเวณท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ เพื่อให้พื้นที่ในความรับผิดชอบให้มีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุดสำหรับประชาชน

2.3 แผนงานด้านความปลอดภัย

ภารกิจด้านความปลอดภัยในภาคส่วนของการขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วย

2.3.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

ควบคุมและจัดการจราจรในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ประสานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่ การตรวจสภาพของรถโดยสาร รถประจำทาง ขบวนรถไฟ และรถไฟฟ้า สภาพเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับให้บริการประชาชน รวมถึงการตรวจสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยพิจารณาจัดหาเครื่องมือในการตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์พนักงานขับรถ และจัดให้มีผู้ขับขี่สำรองตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อต้องขับรถเกินกว่า 4 ชั่วโมง และควบคุมมิให้ขับรถเร็วเกินกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2.3.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

หน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางและสะพาน จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย บนถนนและสะพานที่ประชาชนใช้สัญจร รวมทั้งจุดเสี่ยงและจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย บำรุงรักษาเส้นทางและสะพานให้อยู่ในสภาพดี และดูแลระบบจราจร เครื่องหมาย ป้ายสัญญาณไฟมีความชัดเจนใช้งานได้และสามารถป้องกันอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้นได้ จัดเจ้าหน้าที่ประจำสะพานข้ามแม่น้ำเพื่ออำนวยการจราจรให้ความช่วยเหลือ บรรเทา และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีความปลอดภัย ในการเดินทาง

2.3.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

ควบคุมและจัดการจราจรในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด จัดเตรียม ความพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ การรักษาพยาบาล การดับเพลิงและกู้ภัย จัดเตรียมเครื่องบิน ให้มีความพร้อมและมีความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการประชาชน กัปตันเครื่องบินให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สนามบินและเจ้าหน้าที่ประจำหอบังคับการบิน กรณีการแจ้งข่าวการปล่อยโคมลอย โคมควัน และบั้งไฟ

2.3.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

การออกประกาศมาตรการเพื่อความปลอดภัยในเรื่องกำหนดมาตรการเกี่ยวกับ การใช้โป๊ะ ท่าเทียบเรือ การเดินเรือ และประชาชนที่จะมาลอยกระทง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ ผู้ใช้เรือ ผู้ครอบครองโป๊ะและท่าเทียบเรือ ดำเนินการในเรื่องความปลอดภัย โดยต้องมีป้ายระบุจำนวนคน มีพวงชูชีพ ติดตั้งไฟส่องสว่าง จัดเจ้าหน้าที่ควบคุม เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือต้องตรวจสอบเรือและระมัดระวังความปลอดภัยในการเดินเรือสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำต่อประชาชนผู้โดยสารเรือหรือผู้เดินทางมาลอยกระทง รวมถึงการออกประกาศเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือและใช้เรือช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยสำหรับผู้ควบคุมเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังไม่ประมาท ไม่ดื่มสุรา ไม่เสพยาเสพติดให้โทษ หรือของมึนเมาขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่เดินเรือด้วยความเร็วเกินสมควร สำหรับเจ้าของเรือหรือผู้ประกอบกิจการเดินเรือต้องตรวจสอบดูแลตัวเรือ เครื่องจักร และท่าเทียบเรือให้อยู่ในสภาพดีมีความมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมแก่ การให้บริการผู้โดยสาร

3. มาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ในปี 2553

กระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อการบินและอากาศยานจากกรณีการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ ดังนี้

3.1 มาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอย

3.1.1 การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนโคมลอย มผช.808/2552 โดยให้โคมลอยทำจากวัสดุธรรมชาติและมีขนาดตามที่กำหนดเพื่อควบคุมระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและความสูงของโคมลอย ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและอันตรายที่อาจจะเกิดต่อการบินและอากาศยาน

3.1.2 ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย กรมประชาสัมพันธ์ และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช.808/2552 และให้ปล่อยโคมหลังเวลา 21.30 น. ในช่วงเทศกาลลอยกระทง รวมถึงให้ผู้ผลิตหันมาผลิตโคมลอยตามมาตรฐาน มผช.808/2552 เพิ่มมากขึ้น

3.1.3 ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงต่อการบินและอากาศยานกรณีการปล่อยโคมลอยและบั้งไฟ โดยนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติในรูปของประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือกฎหมายอื่นใด

3.1.4 ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนและจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าหากต้องการปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมากขอให้แจ้งรายละเอียดของจำนวนโคมลอย ห้วงเวลาการปล่อย และจุดที่ทำการปล่อยที่ชัดเจนให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมการบินพลเรือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งรับผิดชอบและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศทราบ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น

3.2 มาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่

3.2.1 การกำหนดแนวทางและมาตรการการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ ดังนี้

3.2.1.1 การควบคุมขนาดและรูปแบบของโคมควันให้เหมาะสม เพื่อควบคุมความสูงและระยะการลอยของโคมควัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อการบินและอากาศยาน โดยโคมควันที่เหมาะสม ประกอบด้วย

  • ทำจากกระดาษว่าว จำนวนไม่เกิน 72 แผ่น (ขนาด 50x75 เซนติเมตร/แผ่น)
  • ความกว้างของปากโคมควันมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้สีกระดาษว่าวที่มี่ลักษณะคล้ายกับสีของท้องฟ้า เช่น ฟ้า ขาว และเทา เพื่อให้นักบินสังเกตเห็นโคมควันได้อย่างชัดเจน

3.2.1.2 การขอความร่วมมือประชาชนปล่อยโคมควันตามประเพณีเฉพาะวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 (วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น.

3.2.1.3 ขอความร่วมมือจากวัดในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งนิยมจัดให้มีกิจกรรมการปล่อยโคมควัน แจ้งให้ผู้จัดประสานการขออนุญาตต่อกรมการบินพลเรือนก่อนการจัดกิจกรรม

3.2.2 ขอความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือวัดในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือละเว้นการจัดกิจกรรมการปล่อยโคมควันในรูปแบบซึ่งมีความเสี่ยงและอาจเกิดอันตรายต่อการบินและอากาศยาน และนำแนวทางและมาตรการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ตามข้อ 3.2.1 ไปปฏิบัติ

3.2.3 ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง) ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในการละเว้นการจัดกิจกรรมการปล่อยโคมควันในรูปแบบซึ่งมีความเสี่ยงและอาจเกิดอันตรายต่อการบินและอากาศยาน และนำแนวทางและมาตรการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ตามข้อ 3.2.1 ไปปฏิบัติ

3.2.4 ขอความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมประชาสัมพันธ์ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม พร้อมทั้งรณรงค์/เชิญชวนประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม คงอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามสืบไป

3.3 กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการ ดังต่อไปนี้

3.3.1 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายร้ายแรงอันอาจเกิดขึ้นได้จากการปล่อยโคมลอยและโคมควันขนาดใหญ่ โดยการเชิญชวนให้ประชาชนใช้โคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช.808/2552 และใช้โคมควันในขนาดและรูปแบบที่เหมาะสมตามข้อ 3.2.1

3.3.2 กรมการบินพลเรือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พิจารณาดำเนินการหลีกเลี่ยงการจัดเที่ยวบินขึ้นและลง ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2553 ตั้งแต่เวลา 21.30 น. เป็นต้นไป

3.3.3 กรมการบินพลเรือนและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ร่วมพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมกรณีวัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกวัด จะมีประเพณีการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน12) ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. และให้ออกประกาศแจ้งเตือนนักบิน (NOTAM) ทราบถึงกำหนดการและห้วงเวลาการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดที่มีท่าอากาศยานหรือสนามบินในความรับผิดชอบโดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือที่มีประชาชนนิยมปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมาก โดยนำรูปแบบแนวทางการดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา

3.3.4 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จัดทำแผนที่พื้นที่โซนนิ่งบริเวณโดยรอบท่าอากาศยาน/สนามบิน สำหรับเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามแนวขึ้นลงของเครื่องบินในพื้นที่จังหวัดที่มีประชาชนนิยมปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ

4. การประสานการปฏิบัติ การรายงานเหตุการณ์และการสื่อสาร

ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจในการจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีความปลอดภัยในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทง ร่วมประสานการปฏิบัติงานทั้งกับหน่วยในสังกัดเดียวกันและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่การปฏิบัติงาน โดยมีศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานของกระทรวงคมนาคม ในการรับข้อมูลข่าวสารและ ประชาสัมพันธ์ข่าว สถานการณ์ เหตุการณ์ ผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1356 โทรสาร 0 2280 8400 และศูนย์วิทยุสื่อสาร ศปภ.คค. ความถี่ 151.600 MHz

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ