รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 9 — 15 พฤศจิกายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 17:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 9 — 15 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยและภัยแล้ง รวบรวม วิเคราะห์ พยากรณ์ คาดการณ์ และติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อการเตือนภัยและกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ มีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำในภาพรวม

  • สภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนอ่อนกำลังลง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง และมีร่องมรสุมพาดผ่านทะเล อันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่น
  • สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ประมาณร้อยละ 75 อยู่ในเกณฑ์ปานกลางเขื่อนที่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำ มีจำนวน 9 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 81 - 100 มีจำนวน 13 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง
เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 50 - 80 มีจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
  • สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แม่น้ำชี ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม และที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม แม่น้ำมูล ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และแม่น้ำตรัง ที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมาก คือ แม่น้ำพอง ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ห้วยสำราญ ที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ แม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส คลองพระแสง ที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี และแม่น้ำตะกั่วป่า ที่ อ.กะปง จ.พังงา

2. สถานการณ์อุทกภัยในรอบสัปดาห์ มีพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อ่างทอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง

3. การให้ความช่วยเหลือ

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางตรวจพื้นที่น้ำท่วมและมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ลพบุรี และปราจีนบุรี

3.2 กรมทรัพยากรน้ำ มอบน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดลำปาง น่าน พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม จำนวนรวม 100,000 ขวด สนับสนุนรถผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่ 4 คัน แจกจ่ายน้ำประปา 672,962 ลิตร จัดรถยนต์รับส่งประชาชนที่ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง ถุงยังชีพ 250 ชุด ชุดสารส้มและคลอรีนเม็ด 65 ชุด

3.3 ในรอบสัปดาห์นี้ สถานีเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำมีการแจ้งเตือนภัย จำนวน 5 ครั้ง ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ใน 2 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นการเตือนในระดับเตรียมอพยพ 2 ครั้ง 6 หมู่บ้าน และระดับเฝ้าระวัง 3 ครั้ง 8 หมู่บ้าน

3.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมบ่อบาดาลแบบถาวร 1,086 บ่อ เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 223 บ่อ ซ่อมเครื่องสูบน้ำ 164 เครื่อง ซ่อมแซมระบบประปา 51 ระบบ แจกน้ำดื่ม 570,782 ขวด และแจกน้ำจากระบบประปาเคลื่อนที่ 921,400 ลิตร

3.5 กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศพร้อมส่งข้อความ SMS แจ้งเครือข่ายฯ และประสานงานหน่วยงานติดตามสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย

3.6 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดเรือท้องแบนและอุปกรณ์ด้านการช่วยเหลือหรือกู้ภัย

3.7 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บริจาคสิ่งของ 100,000 บาท

3.8 กรมป่าไม้ ให้ความช่วยเหลือด้าน เงินบริจาค 150,000 บาท ถุงยังชีพ 2,859 ชุด ข้าวกล่อง 1,573 กล่อง เทียนไข 100 กล่อง น้ำดื่ม 2,600 ขวด เครื่องนุ่งห่ม 360 ชุด ยารักษาโรค 150 ชุด

4. การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2553

4.1 ให้แจ้งทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ช่วงวันที่ 15 - 17 พ.ย. 2553 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง อาจมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้

4.2 กรมทรัพยากรน้ำ รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำโขงว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงแต่มีปริมาณใกล้เคียงกับสถิติปริมาณน้ำเฉลี่ยในรอบ 30 ปี โดยมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2552 และมากกว่าปริมาณน้ำต่ำสุด ซึ่งแนวโน้มปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามสภาพภูมิอากาศของลุ่มน้ำที่เริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำแล้ง อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำจะได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป

4.3 กรมทรัพยากรธรณี รายงานว่า ในพื้นที่ ต.ละอาย อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ที่มีรอยแยกความยาวประมาณ 2 กม. เป็นรอยแยกที่เกิดมา 1 — 2 ปี แล้ว ซึ่งมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ดินถล่มได้ จึงขอแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทราบเพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังเตือนภัย ส่วนในช่วงนี้ มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยดินถล่ม ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง

4.4 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณ น้ำเก็บกักเต็มอ่าง โดยวันที่ 14 พ.ย. 2553 มีน้ำประมาณร้อยละ 108 การระบายน้ำออกได้พิจารณาทั้งพื้นที่ขอบอ่างและผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว ขณะนี้ มีน้ำเอ่อท่วมเหนือเขื่อนใน 2 จังหวัด 5 อำเภอ คือ จ.ขอนแก่น ที่ อ.หนองเรือ อ.หนองนาคำ อ.ภูเวียง และ จ.หนองบัวลำภู ที่ อ.โนนสัง อ.ศรีบุญเรือง รวม 105 หมู่บ้าน พื้นที่น้ำท่วม 11,000 ไร่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการแจกถุงยังชีพ

4.5 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ปัจจุบัน ปริมาณน้ำสูงสุดของลุ่มน้ำมูล เริ่มเคลื่อนตัวออกจาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เข้าสู่ จ.อุบลราชธานีแล้ว ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำชียังอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งคาดว่า จะมาถึงอุบลราชธานี ในอีก 7 — 10 วัน ซึ่งจะทำให้ระดับแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานี สูงขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน 0.50 ซม. อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม

4.6 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (วันที่ 15 พ.ย. 2553) 1,516 ลบ.ม. ลดลงจากเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2552 ที่มีปริมาณน้ำสูงสุด 3,717 ลบ.ม. ซึ่งคาดว่า พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำจะเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายใน วันที่ 18 พ.ย. 2553 ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำจะเข้าสู่สภาวะปกติภายในต้นเดือนธันวาคมนี้

4.7 การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกสำรวจพื้นที่น้ำท่วมขังและติดตามตรวจวัดคุณภาพน้ำ เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2553 ในจังหวัดลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท และสุพรรณบุรี พร้อมกับนำน้ำสกัดชีวภาพไปใช้ในการบรรเทาปัญหาน้ำ เน่าเสียในพื้นที่น้ำท่วมขังด้วยแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ