คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย และมอบหมายให้สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยผนวกเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน รวมทั้งผลการ ดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติต่อไป ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติเสนอ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติรายงานว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 กำหนดให้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการหรือจัดการด้านอาหารในทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสามารถประสานงานและบูรณาการงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการด้านอาหารทั้งภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร และอาหารศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุและระบบเตือนภัยด้านอาหารต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันจะทำให้การบริหารจัดการด้านอาหารในภาพรวมของประเทศให้มีความเป็นเอกภาพต่อไป
2. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2552 มีมติเห็นชอบหลักการกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เพื่อศึกษาข้อมูลนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านอาหาร และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วม
3. คณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นต่อกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐเอกชน และภาคประชาสังคม และได้นำข้อคิดเห็นมาปรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
4. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 มีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยเสนอและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
5. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยแล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
5.1 วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อชาวไทยและชาวโลก”
5.2 วัตถุประสงค์
5.2.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฐานทรัพยากรในการผลิตอาหารของประเทศให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
5.2.2 เพื่อให้อาหารที่ผลิตได้ในทุกระดับนับตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และในระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์มีความพอเพียง มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี
5.2.3 เพื่อสร้างกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อให้ได้องค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อาหาร รวมถึงการนำไปเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
5.2.4 เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพทั้งด้านโครงสร้างกฎหมาย สารสนเทศและอื่นๆ
5.2.5 เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับชาติทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
6. ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (2554 — 2559)
7. ประเด็นยุทธศาสตร์ : 7.1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร มี 10 กลยุทธ์ 7.2 ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารมี 6 กลยุทธ์ 7.3 ยุทธศาสตร์ด้านอาหารศึกษา มี 5 กลยุทธ์ 7.4 ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ มี 3 กลยุทธ์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--