คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 6/2553
2. เห็นชอบผลการพิจารณาและมติของคณะกรรมการ กรอ. รวม 8 เรื่อง ดังนี้
2.1 ผลการดำเนินงานของคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา
มติคณะกรรมการ กรอ.
2.1.1 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามมติคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา ในการปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนด ระเบียบ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดย (1) ขยายรอบระยะเวลาการจัดทำบัญชีไม้จากที่ต้องทำเป็นปัจจุบัน เป็นภายใน 7 วัน พร้อมทั้งกำหนดค่ามาตรฐานในการแปลงค่าน้ำหนักเป็นปริมาตรเพื่อประกอบการจัดทำบัญชีไม้ และ (2) ปรับปรุงการออกและต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราจากทุก 1 ปี เป็นทุก 3 ปี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน นับจากวันที่ 15 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป
2.1.2 ให้ความเห็นชอบมาตรการระยะยาวที่ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์) เป็นประธาน เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา โดยเฉพาะในมาตรา 50 (4) พร้อมทั้งให้นำร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... มาพิจารณาประกอบการศึกษา และเสนอผลการศึกษาต่อคณะทำงานฯ ภายในระยะเวลา 1 เดือน
2.2 ผลการดำเนินงานของคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
มติคณะกรรมการ กรอ. : เห็นชอบตามมติที่ประชุมของคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่กำหนดให้กองทุนฯ ชำระหนี้เงินกู้เพื่อเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2541/2542 - 2551/2552 ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากกองทุนฯ จะได้รับเงินดังกล่าวครบจำนวนที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาอัตราการนำเงินเข้ากองทุนฯ ที่เหมาะสมใหม่ สำหรับช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยให้ได้ข้อสรุปผลการศึกษาเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554
2.3 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
มติคณะกรรมการ กรอ. : มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับไปพิจารณาเพิ่มเติมและปรับปรุงข้อมูลเพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ตามความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2.4 การขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล
มติคณะกรรมการ กรอ. : มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการ ดังนี้
2.4.1 ให้คงอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่ 8.50 บาท/ลบ.ม. เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น
2.4.2 เร่งรัดการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินสำหรับโครงการที่จะได้รับการช่วยเหลือและอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล พ.ศ. .... เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลไปช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการให้สามารถใช้น้ำประปาได้ และปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลให้กับภาคครัวเรือนและภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาน้ำบาดาลที่มีคุณภาพต่ำและไม่สามารถใช้น้ำประปาได้ รวมทั้งให้จัดทำแผนการบริหารเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนที่เหมาะสมและมั่นคง โดยการสำรวจและรวบรวมรายชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในกรณีที่น้ำประปาเข้าไม่ถึงหรือมีน้ำประปาเข้าถึงแต่ไม่สามารถใช้ได้ในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน
2.4.3 เร่งดำเนินการศึกษาโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดค่า Safe Yield ในพื้นที่วิกฤตให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2554 และรายงานคณะกรรมการ กรอ. พิจารณา
2.4.4 ปรับปรุงข้อกำหนดการศึกษาโครงการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นระยะ (Phasing) ตามกลุ่มพื้นที่และให้ความสำคัญกับการศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลก่อน เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น
2.5 นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์
มติคณะกรรมการ กรอ.
2.5.1 มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการประกาศนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ออกประกาศลด/ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553
2.5.2 มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมในการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0 และการกำหนดระยะเวลาการประกาศนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง) ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี แล้วเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในคราวประชุมวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553
2.5.3 ขอความร่วมมือภาคเอกชนในการปรับลดราคาขายไข่ไก่ลงฟองละ 10 สตางค์ เพื่อบรรเทาปัญหาของภาคประชาชนในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย
2.6 การจัดตั้งคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
มติคณะกรรมการ กรอ. : มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ ดังนี้
2.6.1 แต่งตั้งผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
2.6.2 รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาประกอบการจัดตั้งสำนักงานเฉพาะกิจด้านการเจรจาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเรื่องโครงสร้างและรูปแบบการทำงานของสำนักงานฯ
2.6.3 ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและให้เกิดการยอมรับและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
2.7 แนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
มติคณะกรรมการ กรอ.
2.7.1 มอบหมายให้ประธานผู้แทนการค้าไทยประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในเรื่องของแนวทางการปฏิบัติตามประกาศ ฉบับที่ 6 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับภาคเอกชน
2.7.2 สำหรับการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อดำเนินการทบทวนบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ให้ใช้ช่องทางของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมอยู่ด้วยแล้ว ทั้งนี้ในการดำเนินการให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย
2.8 การเร่งรัดให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนธนาคารแห่งประเทศไทย
มติคณะกรรมการ กรอ. : รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (ธนาคารออมสิน) ประชาสัมพันธ์ชี้แจงแผนการดำเนินโครงการให้ผู้ประกอบกิจการและธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--