คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานโรดแมปแผนการทำงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ
ข้อเท็จจริง
ด้วยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาและปรับกลยุทธ์ให้กับภาคอุตสาหกรรมไมซ์ สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2553 ส่งผลให้มีการปิดการจราจรในพื้นที่ ถนนราชประสงค์ และการปิดให้บริการชั่วคราวของโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ และความไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสาขาบริการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งตลอดช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา สสปน. ได้เร่งผลักดัน และพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการกำหนดกรอบนโยบาย การวางกลยุทธ์ทางการตลาด รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือในการปรับยุทธวิธี เพื่อการเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจชาติของประเทศอันเป็นผลจากวิกฤติการณ์ทางการเมือง โดยกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายหลักของอุตสาหกรรมไมซ์ของภูมิภาคเอเชีย
วัตถุประสงค์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ
การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- กำหนดกรอบนโยบาย ปรับกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ควบคู่กับการผลักดัน และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้สามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปสู่การเป็นจุดหมายหลักของไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย
- ส่งเสริม และเปิดโอกาสเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศโดยมีทิศทางและเป้าหมายหลักร่วมกันในระยะยาว
- ส่งเสริมให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เป็นวาระแห่งชาติที่เป็นการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนทั้งรัฐต่อรัฐ รัฐต่อเอกชน และเอกชนต่อเอกชน
- กระตุ้นและดึงดูดให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศและในภูมิภาค ทั้งในภาคการบริการและภาคการผลิต
- พัฒนาบุคลากรและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
- พัฒนาประเทศไทยให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี และการศึกษา
การดำเนินงานของ สสปน. ในช่วงเดือนมิถุนายน — พฤศจิกายน 2553
กรอบระยะเวลา การดำเนินงาน มิถุนายน 2553 สสปน. ได้จัดงาน MICE Summit ผนึกกำลัง ระดมความคิด ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ โดยประชุม
ระดมความเห็นจากผู้นำด้านต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ ในวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2553 ณ
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
กรกฎาคม-สิงหาคม 2553 ข้อสรุปของกรอบแนวทางจัดทำโรดแมปแผนการทำงานเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย
ได้นำไปผ่านกระบวนการสอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องจากองค์กรภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่
เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 200 องค์กร เพื่อนำไปพัฒนา White Paper ฉบับสมบูรณ์
กันยายน 2553 เชิญผู้ประกอบการไมซ์ และหน่วยงานรัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมรับฟังการแถลง
“White Paper เจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย” ในงาน MICE Declaration
โดยจัดขึ้นในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 ราย
ตุลาคม-พฤศจิกายน 2553 นำ “White Paper เจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย” ฉบับสมบูรณ์เสนอต่อรัฐบาล
โรดแมปแผนการทำงานเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย
1. กระตุ้นให้เกิดการจัดประชุม สัมมนาและการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง
2. เพิ่มศักยภาพทางการตลาด และสร้างโอกาสในการขายแก่อุตสาหกรรมไมซ์
3. รักษางานที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าและมี Incentive เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ
4. ประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมไมซ์จากภายในประเทศ สู่ระดับนานาชาติ
5. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์กับบุคคลากรรัฐและท้องถิ่นและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
6. พัฒนาคนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
7. ให้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและสนับสนุนการแสดงความจำนงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโดยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์อย่างเป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรม และปรับกระบวนการให้คล่องตัว
8. เสนอให้รัฐเป็นผู้ผลักดันการสร้างงานด้านอีเว้นท์ (Event) โดยเฉพาะ Flagship Event ทั้งในและจากต่างประเทศ
9. ให้นำเสนอการจัดตั้งกองทุนสมทบของรัฐและเอกชนเพื่อการสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ (Bidding Fund) โดย สสปน. จะศึกษาและดำเนินการหารือกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน และจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
10.ปรับปรุงฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระบบเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--