การกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย และขอความเห็นชอบในการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. ให้เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 แล้ว เป็นเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียตามนัยแห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ. 2538 มาตรา 3

2. ให้ อจน. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด ก่อสร้าง และบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย

3. ให้ อจน.เข้าดำเนินการลงทุนตามนัยแห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ. 2538 มาตรา 30 (1) เพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียโดยให้องค์การจัดการน้ำเสียปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้องค์การจัดการน้ำเสียขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้ตามความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเงื่อนไขของการบริหารจัดการต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้องค์การจัดการน้ำเสียรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียได้ในระยะยาวต่อไป) และสำนักงบประมาณ (เกี่ยวกับการเจรจาทำข้อตกลงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีส่วนรับผิดชอบในการบริหารจัดการต่อไป) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่นอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียทำให้องค์การจัดการน้ำเสียซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายโดยเบ็ดเสร็จที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างครบวงจร ทส.จึงมีความประสงค์จะขอให้กำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้

1.1 หลักการและเหตุผล : ดำเนินการศึกษาออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเฉพาะจุดในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยดำเนินการในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ เทศบาลเมืองปากพนัง เทศบาลตำบลหัวไทร เทศบาลตำบลชะอวด เทศบาลตำบลเชียรใหญ่ และภายในพื้นที่ของมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นอกจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว อจน.ยังได้เข้าดำเนินการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียภายในพื้นที่ของมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยการออกแบบก่อสร้าง และเดินระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่งควบรวบบึงประดิษฐ์ขนาดบำบัด 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 นอกจากนี้ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมศึกษาเรียนรู้ ด้านการอนุรักษ์พลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ

1.2 ขั้นตอนการดำเนินงาน : ในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเฉพาะจุดดังกล่าว มีขั้นตอนการดำเนินงานรวม 6 ขั้นตอน และจัดทำคู่มือและถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการดำเนินงานด้วยตนเอง เป็นการเสริมสร้างความพร้อมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำเสียได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ด้วย

1.3 วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 2) เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำให้มีคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ