เรื่อง โครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีภารกิจหน้าที่ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 — 6 ในลักษณะของโรงเรียนประจำ
2. อนุมัติโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
3. อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนประจำและ ค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน เห็นควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวในอัตราคนละ 84,000 บาทต่อปี ตามอัตราที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ให้การสนับสนุนห้องเรียนวิทยาศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในปัจจุบัน สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 (พฤษภาคม — กันยายน 2554) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จากโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ที่ได้รับมาดำเนินการก่อน และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไป ตามความ จำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงศึกษาธิการรับ ความเห็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า
1. โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มีอยู่ 12 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นโรงเรียนที่มีจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งเป็นพิเศษ นอกจากจัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในลักษณะโรงเรียนประจำ ศธ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยโครงการดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 หลักการและเหตุผล : เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างถูกทางและเหมาะสมตั้งแต่เยาว์วัย และกระจายการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษให้ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสได้รับการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
1.2 จุดมุ่งหมายของโครงการ : เพื่อพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ (World Class) มีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในลักษณะของโรงเรียนประจำ และเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
1.3 พื้นที่ให้บริการ : ปัจจุบันโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มี 12 แห่ง รับนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ ดังรายละเอียดในตาราง ซึ่งต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ที่ โรงเรียนจุฬาภรณ จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่บริการ ราชวิทยาลัย 1 นครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี 2 เชียงราย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง 3 ตรัง ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง 4 บุรีรัมย์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม 5 มุกดาหาร มุกดาหาร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ 6 สตูล สตูล ยะลา นราธิวาส ปัตตานี 7 เพชรบุรี เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี 8 เลย เลย อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู 9 ลพบุรี ลพบุรี ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี 10 พิษณุโลก พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ 11 ปทุมธานี ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร 12 ชลบุรี ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว
1.4 ทรัพยากรสนับสนุน : โดยใช้เกณฑ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ของโครงการพัฒนาและ ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (พสวท.) และของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดทรัพยากรสนับสนุนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนในการเป็นนักเรียนประจำ
ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษเป็นการเฉพาะ ค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับปรุงหอพัก อาคาร สถานที่ ห้องปฏิบัติการ และสื่อการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ
1.5 ระยะเวลาดำเนินการ ปีการศึกษา 2554 — 2557 ทั้งนี้ กำหนดให้มีการประเมินผลในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณารับนักเรียนปีต่อ ๆ ไป
1.6 คณะกรรมการบริหารโครงการ : เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นกรรมการบริหารโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพ๙.) เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการอื่นอีก 16 คน โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.6.1 กำหนดนโยบายในภาพรวม กรอบและทิศทางการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อให้การดำเนินการของแต่ละโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
1.6.2 กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริม กำกับติดตาม ดูแลและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.6.3 ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จัดทำรายงานผลการติดตามประเมินผลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ข้อคิดเห็นทุกปีการศึกษา
1.6.4 ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อการนี้ได้ตามความเหมาะสม
1.7 วัตถุประสงค์โครงการ : 1) เพื่อพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 2) เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุก ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาคนั้น ๆ 3) เพื่อเป็นฐานในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมได้ 4) เพื่อเป็นต้นแบบและกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--