สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2553 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2553 — 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2010 15:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2553 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2553 — 2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2553 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2553 - 2554 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2553

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความมั่นใจของนักลงทุน ส่งผลให้ทั้งการส่งออกการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสสองของปี 2553 ร้อยละ 0.2 (% QoQ SA) เป็นการหดตัวเป็นสองไตรมาสติดต่อกัน และ รวม 9 เดือนแรกของปี 2553 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3

1.1 ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ

ในไตรมาสนี้สูงถึง 49,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยขยายตัวร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยานพาหนะและชิ้นส่วน แผงวงจรรวม เครื่องปรับอากาศ และ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 60.1 17.0 38.2 และ 93.9 ตามลำดับตลาดส่งออกหลักยังคงขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ลดลงเนื่องจากการลดลงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าประเภทโครงก่อสร้าง

1.2 ภาคการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสนี้ มีจำนวน 3.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่มีจำนวน 2.86 ล้านคน เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 78.7 26.9 และ 28.1 ตามลำดับ อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 48.4 เทียบกับร้อยละ 47.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อรวม 9 เดือน นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 11.2 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552

1.3 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 5.0 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร จากราคาพืชผลหลักที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคายางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.0) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.6) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.7) ประกอบกับภาวะการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 80.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 75.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.1

1.4 การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 14.5 เป็นการขยายตัวในการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น เห็นได้จากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 18.1 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 10.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือชะลอตัว แต่ยังอยู่ในอัตราที่สูงดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 50.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 49.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 15.4

2. แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553

จากภาวะเศรษฐกิจไทยในสามไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 และเมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้วัดต่างๆ สศช. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 เป็นร้อยละ 7.9 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.3 ของ GDP โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

2.1 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย (1) เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดีและเอื้อต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ โครงสร้างตลาดการส่งออกมีการกระจายตัวมากขึ้น (2) การลงทุนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากแรงส่งของการส่งออกและการบริโภคในประเทศ (3) การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นแล้ว สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว (4) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และตลาดทุนและตลาดพันธบัตรเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ และ (5) อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

2.2 ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด ประกอบด้วย (1) การแข็งค่าของเงินบาท (2) ผลจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลง และจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เป็นแรงส่งให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (3) ความผันผวนของราคาน้ำมันและ(4) การบริโภคสินค้าคงทนลดลง เนื่องจากการปรับเข้าสู่ฐานที่สูงขึ้น

3. แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 7.9 ในปี 2553 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.5 - 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.3 ของ GDP โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

3.1 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2554

1) แรงส่งจากการขยายตัวในปี 2553 ทำให้มีการขยายตัวต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2554

2) ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจาก (1) การปรับเงินเดือนและค่าจ้างขั้นต่ำ(2) ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (3) การปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณปี 2554 จะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงขึ้น (4) อัตราการว่างงานเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำ และ (5) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3) อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเนื่องจาก (1) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ(2) ประเทศกำลังพัฒนาหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดผลกระทบจากปริมาณเงินไหลเข้าและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน

3.2 ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ควรระมัดระวังในปี 2554

1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่อุปสงค์ของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนเมื่อรวมกับเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงินการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด จะทำให้ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวในระดับต่ำ

2) สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในสังคม แม้ว่าจะมีความสงบมากขึ้นจากช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่ายังไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ชะลอการลงทุนในประเทศไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ

3) สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก (1) ความแปรปรวนของสภาพอากาศและผลกระทบของปัญหาอุทกภัย (2) การแข็งค่าของเงินบาทและเมื่อเทียบกับการอ่อนค่าลงของเงินด่องของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าว

4) การไหลเข้าและออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักชะลอตัว ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินมาสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีผลทำให้ค่าเงินของภูมิภาคนี้ รวมถึงค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการส่งออกลดลง รวมทั้งการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลให้ระดับราคาสินทรัพย์ (Asset Price) สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์

5) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม นับเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ผู้ผลิตก็ไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้โอกาสการขยายตัวของธุรกิจลดลงตามไปด้วย

6) แรงกดดันจากเงินเฟ้อซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจนำไปสู่การปรับอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีความเสี่ยงต่อการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ และนำไปสูการแข็งค่าของเงินบาท

4. แนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2554

4.1 เร่งฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยในปลายปี 2553 ทั้งด้านการชดเชยรายได้เกษตรกร และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เร่งวางแผนในระยะยาวในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภค ทั้งในกรณีภัยแล้ง และอุทกภัย

4.2 บริหารจัดการด้านราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความเสียหายจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

4.3 ส่งเสริมและจูงใจให้ภาคธุรกิจส่งออกใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย ง่ายต่อการใช้ และมีต้นทุนต่ำ

4.4 เร่งแก้ปัญหาและบริหารจัดการแรงงานทั้งในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และแรงงานที่ขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

4.5 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ