คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสาม ปี 2553 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สรุปได้ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และรายได้แรงงานไทย: เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้โอกาสในการทำงานและการสร้างรายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้นและจะเป็นข้อจำกัดสำหรับภาคการผลิต ในระยะสั้นคุณภาพชีวิตแรงงานจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและความเสียหายในภาคเกษตร รวมทั้งการสูญเสียรายได้ส่งกลับจากต่างประเทศจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
1.1 การจ้างงานเฉลี่ยของไตรมาสสามเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากไตรมาสเดียวกันปี 2552 การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ดีขึ้น อัตราการว่างงานเฉลี่ยลดลงเป็นร้อยละ 0.9 มีผู้ว่างงานจำนวน 341.0 พันคน จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลงเป็น 124,037 คน
1.2 ประเด็นที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่
(1) ตลาดแรงงานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นและขาดแคลนแรงงานระดับวิชาชีพในหลายสาขา โดยเฉพาะแรงงานระดับกึ่งฝีมือ และแรงงานระดับล่าง และจากการสำรวจความต้องการแรงงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2553 ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และเครื่องจักรกล พบว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2554—2558) อุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 248,862 คน โดยสัดส่วนความต้องการแรงงานในระดับการศึกษามัธยมต้น-ปลายมากที่สุดร้อยละ 52.9 รองมาเป็นความต้องการแรงงานระดับวิชาชีพ (ปวช.- ปวส.) ร้อยละ 36 และความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีร้อยละ 11.1 โดยในระดับวิชาชีพมีความต้องการแรงงานสาขาช่างกลโรงงานมากที่สุด รองลงมาคือสาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และช่างยนต์ สำหรับความต้องการแรงงานในปริญญาตรีมีความต้องการสาขาวิศวกรรมศาสตร์มากที่สุดโดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม เครื่องกล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และแมคคาทรอนิกส์ และในภาพรวมของประเทศสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างสะสมยังคงลดลงต่อเนื่อง แสดงถึงความต้องการแรงงานที่มีมากกว่าผู้สมัคร
(2) ประเด็นเฝ้าระวังอื่นที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงานได้ในระยะสั้น ได้แก่ ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อรายได้แรงงานโดยเฉพาะในสาขาการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนประกอบหลัก (high local content) และใช้แรงงานสูง (labour intensive) อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนังอุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสำเร็จรูปและสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อรายได้ของแรงงาน และการสูญเสียโอกาสในการทำงานและสูญเสียรายได้จากพืชผลการเกษตร การสูญเสียทรัพย์สินจากผลกระทบภาวะน้ำท่วม รวมทั้งได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ผลผลิตเกษตรออกสู่ตลาดลดลง
2. สุขภาพประชาชนยังมีความเสี่ยงจากโรคภัยที่ต้องเฝ้าระวังคือ การระบาดของไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง การระบาดของโรค มือ เท้าปากเพิ่มขึ้นมาก และในระยะสั้นยังต้องเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วมได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคผิวหนัง และโรคตาแดง นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์โดยรวมมีจำนวนลดลง แต่เยาวชนไทยอายุ 15—24 ปี และผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ในโอกาสที่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นวันต้านเอดส์โลก นั้นตอกย้ำว่า ยังมีความจำเป็นในการเฝ้าระวังปัญหาการติดต่อโรคเอดส์ที่ครบวงจรทั้งการป้องกัน การเยียวยารักษากลุ่มติดเชื้อและกลุ่มเด็กติดเชื้อที่เกิดจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อ รวมทั้งเด็กกำพร้าจากพ่อแม่ติดเชื้อที่เสียชีวิตไปแล้ว
3. อาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด ประทุษร้ายต่อทรัพย์ ยังพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะคดียาเสพติดเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่นมีมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งของนักเรียนต่างสถาบันยกพวกทะเลาะ ตีกัน เป็นปัญหาเรื้อรังและทวีความรุนแรงขึ้น จะพบว่า มีการใช้อาวุธอันตราย และมีผลกระทบต่อความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์
4. เรื่องเด่นประจำฉบับ “กองทุนสวัสดิการชุมชน...ทางข้างหน้ายังท้าทาย” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามกรอบนโยบายการพัฒนาไปสู่สังคมสวัสดิการ (Welfare society) ที่เกิดจากพลังร่วมของทุกภาคส่วน ยึดหลักความยั่งยืนและหนุนเสริมการคุ้มครองทางสังคมแก่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส และการสร้างความเข้มแข็งชุมชน ทั้งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
4.1 กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นทั้งเครื่องมือในการจัดสวัสดิการและการพัฒนาทุนทางสังคม เป็นตัวอย่างบทเรียนในการนำทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนมาช่วยรองรับการแก้ปัญหาและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาในอนาคต ทำให้เกิดการรวมตัวฟื้นฟูระบบคุณค่าทุนทางสังคมที่มีอยู่มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการชุมชนจากฐานที่มีอยู่ในชุมชน เช่น องค์กรการเงินชุมชนและการบูรณาการกองทุน การออมวันละบาทและกองบุญสัจจะ วันละบาท กองทุนสวัสดิการจากศาสนากลุ่มออมทรัพย์และการจัดการทรัพยากร ฯลฯ
4.2 การขับเคลื่อนในเรื่องการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่การขยายให้มีความครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มยากจน กลุ่มด้อยโอกาสนั้นยังมีความท้าทายหลายประการได้แก่ การครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง ระยะเวลาในการพัฒนาให้มีความแข็งแกร่ง ความเข้าใจของประชาชน การประชาสัมพันธ์ ความชัดเจนของการปฏิบัติ และการสนับสนุนโดยภาครัฐ นอกจากนี้ รูปแบบการจัดสวัสดิการที่ฟุ่มเฟือยในบางกองทุนก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องความยั่งยืนได้ในอนาคต ที่สำคัญคือ การนำความรู้จากการพัฒนาชุมชน เช่น บัญชีครัวเรือน การจัดทำแผนชุมชน ฯลฯ มาวิเคราะห์เพื่อขยายบทบาทสวัสดิการไปสู่การแก้ปัญหาของครอบครัว เช่น หนี้สิน การสร้างอาชีพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสมาชิกให้ออกกำลังกาย ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งปลูกพืชผักปลอดสารพิษ มากกว่าการจัดสวัสดิการแบบให้เปล่าเฉพาะตัวบุคคล ก็จะเป็นการมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการชุมชนจากฐานที่มีเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนากองทุนและชุมชนในด้านอื่นๆ ต่อไป
4.3 ในยามที่เกิดภัยพิบัติและความยากลำบากของประชาชน สวัสดิการในเรื่องการเจ็บป่วย และการทำศพก็นับว่าเป็นแรงหนุนเสริมจากกองทุนสวัสดิการที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ยากจน แม้ว่าโดยบทบาทของกองทุนจะไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือแรก (First aid) อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกองทุนสามารถเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการแก้ไขเยียวยาที่สำคัญรวมทั้งการเป็นเครือข่ายในการประสานความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากกองทุนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอาจจะให้สวัสดิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าในภาวะที่ประสบภัยพิบัติได้ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553--จบ--