การแข็งค่าของเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าเงินบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ จำนวน 61,106.27 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์สุทธิจากการแข็งค่าของเงินบาท จำนวน 5,834.10 ล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 62.80 หรือจำนวน 38,373.02 ล้านบาท เป็นรายจ่ายเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์/ครุภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Import Content) โดยเฉพาะรายการค่าใช้จ่ายในการจัดหายุทโธปกรณ์ ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐที่มีรายการค่าใช้จ่ายจากเงินตราต่างประเทศและได้รับประโยชน์ในกรณีดังกล่าว เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเงินประหยัดได้ไปดำเนินภารกิจที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรืออุบัติภัยอื่นๆ เป็นลำดับแรก

2. สำหรับรายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวน 14,380.58 ล้านบาท เช่น นักเรียนทุนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายงบดำเนินงานในต่างประเทศ ค่าบำรุงสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเงินตราต่างประเทศดังกล่าวจะต้องนำไปใช้ในช่วงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจริง ดังนั้น กรณีที่หน่วยงานได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยน ให้ดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับข้อ 1 และหากหน่วยงานภาครัฐใดได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่าได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกรณีข้างต้น ก็ให้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเช่นกันด้วยตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

ข้อเท็จจริง

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 เห็นชอบให้สำนักงบประมาณตรวจสอบและรวบรวมรายการงบประมาณค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบว่ามีรายการใดที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท และสามารถปรับลดงบประมาณของภาครัฐได้หรือไม่ อย่างไร แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำนักงบประมาณขอรายงาน ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 2,070,000 ล้านบาท มีรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ประมาณ 61,106.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.95 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น จำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.1 รายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ประกอบด้วย รายการค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายบุคลากร เช่น เงิน พ.ข.ต. ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวในต่างประเทศ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในต่างประเทศ ค่าบำรุงสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เงินสมทบกองทุนระหว่างประเทศ และค่าเช่าทรัพย์สินในต่างประเทศ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 14,380.58 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 45.42 เงินยูโรร้อยละ 18.71 เงินเยนร้อยละ 8.50 ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 27.37 จ่ายเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง เงินดอลลาร์แคนาดา และเงินสกุลอื่นๆ

1.2 รายจ่ายเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์/ครุภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Import Content) ที่มีราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาท ประกอบด้วย รายการค่าใช้จ่ายในการจัดหายุทโธปกรณ์ ค่าครุภัณฑ์การแพทย์ และค่าครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีจำนวน 38.373.02 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัสดุอุปกรณ์/ครุภัณฑ์นำเข้าที่ตั้งงบประมาณในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 94.46

1.3 รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ มีจำนวน 8,352.67 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นเงินเยนร้อยละ 97.53 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 2.47 จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ตารางที่ 1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำแนกตามรายการค่าใช้จ่ายและเงินตราสกุลต่างๆ

          รายการ                       USD     POUND      EURO       YEN     CAD   สกุลเงินอื่นๆ          รวม
          1. รายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็น     6,532.13  1,192.12  2,691.21  1,221.88  115.49    2,627.75    14,380.58
          เงินตราต่างประเทศ
          2. รายจ่ายเพื่อจัดหาวัสดุ    36,248.93    170.26  1,700.73     62.76   10.99      179.35    38,373.02
          อุปกรณ์/ครุภัณฑ์ที่นำเข้าจาก
          ต่างประเทศ (Import
          Content)
          3. รายจ่ายเพื่อชำระหนี้        206.02         -         -  8,146.65       -           -     8,352.67
          ต่างประเทศ
          รวมทั้งสิ้น                42,987.08  1,362.38  4,391.94  9,431.29  126.48    2,807.10    61,106.27

2. สถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน (ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553) เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักที่ใช้ตามหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวกับต่างประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 มีอัตราการแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเงินยูโร คิดเป็นร้อยละ 16.64 ปอนด์สเตอร์ลิง ร้อยละ 12.36 ดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 11.04 ดอลลาร์แคนาดา ร้อยละ 6.06 และเยนญี่ปุ่น ร้อยละ 1.88 สำหรับค่าเงินสกุลอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงและสัดส่วนต่องบประมาณที่ตั้งไว้น้อยมาก จึงไม่มีผลต่องบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลหลักที่ใช้ในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 กับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน (ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553)

สกุลเงิน                  อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ตั้ง              อัตราแลกเปลี่ยน         อัตราการแข็งค่าของเงินบาท
                       งบประมาณปี 2554 (1)       ณ วันที่ 23 พ.ย.53  (2)                       (ร้อยละ)

USD                                    34                      30.24                         11.04
POUND                                54.5                      47.76                         12.36
EURO                                 48.5                      40.42                         16.64
YEN                                    37                       36.3                          1.88
CAD                                    32                      30.05                          6.06
ที่มา :  (1) สำนักงบประมาณ  (2) ธนาคารแห่งประเทศไทย

          3. งบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทมีจำนวนสุทธิทั้งสิ้น 5,834.10 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
             3.1 รายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ได้ประโยชน์ จำนวน 1,346.97 ล้านบาท
             3.2 รายจ่ายเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์/ครุภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Import Content) ที่มีราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาท ได้ประโยชน์ จำนวน 4,310.68 ล้านบาท
             3.3 รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ ได้ประโยชน์ จำนวน 176.45 ล้านบาท

          ตารางที่ 3 รายการค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประโยชน์/เสียประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทจำแนกตามเงินตราสกุลต่าง ๆ

รายการ                                        USD     POUND      EURO       YEN     CAD         รวม
1. รายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินตรา                  721.67    147.42    447.83     23.05    7.01    1,346.97
ต่างประเทศ
2. รายจ่ายเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์/                4,004.76     21.05    238.01      1.18    0.67    4,310.68
ครุภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
(Import Content)
3. รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ                 22.76         -         -    153.69       -      176.45
รวมทั้งสิ้น                                  4,749.19    168.47    730.84    177.92    7.68    5,834.10

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการแข็งค่าของเงินบาทจำนวนสุทธิ 5,834.10 ล้านบาทดังกล่าว เป็นการคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานของข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ