การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงิน (Straight loan) จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 27 (6) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในอัตราตันอ้อยละ 105.00 บาท โดยให้จ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2553/2554 จากประมาณการผลผลิตอ้อยเบื้องต้นที่ 66 ล้านตัน รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 6,930 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) หรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายตามปริมาณอ้อยเข้าหีบจริงฤดูการผลิตปี 2553/2554

2. เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาขายน้ำตาลทรายอีกกิโลกรัมละ 5.00 บาท เพื่อเป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับนำไปชำระ หนี้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยให้กองทุนสามารถนำเงินรายได้จากส่วนที่ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2553/2554 ด้วย

3. อนุมัติแนวทางการจัดการภาระหนี้ของกองทุนในส่วนของชาวไร่อ้อยซึ่งมีอยู่เดิม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2553 จำนวน 4,062 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) รวมกับที่จะขอกู้เพิ่มจากการประมาณการเบื้องต้นอีกจำนวน 6,930 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) รวมเป็นเงินประมาณ 10,992 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) เห็นควรให้กองทุนดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กับ ธ.ก.ส.ให้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินของกองทุน

ข้อเท็จจริง

กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับรายงานจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ดังนี้

1. เนื่องจากในช่วงฤดูการผลิตติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปี ชาวไร่อ้อยประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง ทำให้อ้อยได้รับความเสียหายมาก อ้อยไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ชาวไร่อ้อยบางรายต้องทิ้งอ้อยและหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน และบางรายต้องลงทุนปลูกอ้อยใหม่หรือซ่อมแซมอ้อยที่เสียหายอันเกิดจากภัยแล้ง อีกทั้ง ในช่วงใกล้ถึงฤดูตัดอ้อยได้เกิดอุทกภัย มีน้ำท่วมขังไร่อ้อย ทำให้อ้อยที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น และอ้อยที่ได้รับน้ำมากจะมีค่าความหวาน ต่ำและผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยลดลง จากสภาวะภูมิอากาศที่ไม่เอื้อ อำนวยดังกล่าว ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงประมาณร้อยละ 11 คิดเป็นปริมาณอ้อยลดลงประมาณ 8.38 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตที่มีสภาวะภูมิอากาศปกติ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องสูญเสียรายได้ไปจำนวนเงินประมาณ 8,860 ล้านบาท

2. เงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งในการ คำนวณประมาณการรายได้ของระบบฯ ฤดูการผลิตปี 2553/2554 กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ลดจากระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณรายได้ของระบบฯ ฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งอยู่ที่ 32.51 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องสูญเสียรายได้ลดลงอีกจำนวนเงินประมาณ 3,941 ล้านบาท (หรือราคาอ้อยลดลงประมาณตันอ้อยละ 60 บาท) ทั้งนี้ เงินบาทของไทยยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นอีก ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของระบบฯ และราคาอ้อยมากขึ้นในช่วงปลายฤดูการผลิต

3. กอน.ในการประชุมครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 มีมติเห็นชอบให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 945.00 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ตันอ้อยละ 978.39 บาท ในขณะที่ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้กลับลดลง (ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก) และโดยที่ราคาน้ำตาลทรายใน ตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือและจูงใจให้ชาวไร่อ้อยมีการปลูกอ้อยมากขึ้น เพื่อมิให้สูญเสียโอกาสที่จะขายน้ำตาลทรายไปต่างประเทศ และนำเงินตราเข้าประเทศ

4. กอน.ในการประชุมครั้งที่ 14/2553 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ได้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยแล้วมีมติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในอัตราตันอ้อยละ 105.00 บาท โดยให้จ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2553/2554 จากประมาณการผลผลิตอ้อยเบื้องต้นที่ 66 ล้านตัน รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 6,930 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) หรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายตามปริมาณอ้อยเข้าหีบจริงฤดูการผลิตปี 2553/2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ