ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13/2553 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 13/2553 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ความคืบหน้าแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 (เพิ่มเติม)กระทรวงคมนาคมได้เสนอความคืบหน้าแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 (เพิ่มเติม) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ สถานะปัจจุบัน และการปรับแผนการลงทุนฯ สรุปได้ดังนี้

1.1.1 สถานะปัจจุบัน

(1) การลงทุนตามแผนฯ ของ รฟท. สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2553 — 2554 รวม 32,450 ล้านบาท ดังนี้

(1.1) แผนงาน/โครงการที่รัฐบาลรับภาระ วงเงินลงทุนรวม 152,334 ล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2553 — 2554 รวม 29,149 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 2,053 ล้านบาท เพื่อจ่ายลงทุนในแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที 7 รายการ สำหรับโครงการที่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายโครงการ จำนวน 7 รายการ ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2554

(1.2) แผนงาน/โครงการที่ รฟท. รับภาระ เพื่อจัดหารถจักรและล้อเลื่อน รวมทั้งการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินรวม 24,474 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2553 — 2554 จำนวน 3,301 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) แผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที 3 รายการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) และคาดว่าจะสามารถเริ่มประกวดราคาได้ในเดือน พ.ย. 2553 2) โครงการที่อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน 3 โครงการ และ 3) โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม 1 โครงการ ทั้งนี้ แผนงาน/โครงการข้างต้น รฟท. จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ ซึ่ง รฟท. ยังไม่ได้เสนอขอใช้เงินกู้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการดำเนินการตามแผนการลงทุนฯ

(2) ผลการดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 114 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 19,013 ล้านบาท พบว่า ในปีงบประมาณ 2554 ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีแผนการก่อสร้างวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2,693 ล้านบาทแต่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการตามแผน

1.1.2 การปรับแผนการลงทุนฯ

(1) การลงทุนที่รัฐบาลรับภาระ จะมีความล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปี เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2554 ตามแผนการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 โดยในเบื้องต้นจากการประสานงานกับ รฟท. ทล. และ ทช. ได้ปรับแผนเบิกจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2554 ดังนี้ 1) รฟท. มีความพร้อมในการลงทุนจำนวน 11,631 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 2,053 ล้านบาท และได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการก่อหนี้สาธารณะประจำปี 2554 แล้ว 2 โครงการ (โครงการปรับปรุงทางระยะที่ 5 — 6 ) จำนวน 2,302 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่ยังไม่มีแหล่งเงินในการดำเนินงาน 7,276 ล้านบาท 2) ทล. มีความพร้อมในการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 25 แห่ง วงเงิน 1,072 ล้านบาท โดยยังไม่มีแหล่งเงินในการดำเนินงาน 3) ทช. มีความพร้อมในการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 2 แห่ง วงเงิน 195 ล้านบาท โดยยังไม่มีแหล่งเงินในการดำเนินงาน ดังนั้น แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 — 2557 (เพิ่มเติม) ยังขาดแหล่งเงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 8,543 ล้านบาท

(2) การลงทุนที่ รฟท. รับภาระ ยังอยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิมตามแผนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

1.2 มติที่ประชุม

1.2.1 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 (เพิ่มเติม)

1.2.2 มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เร่งเสนอแผนการลงทุนเพื่อประกอบการพิจารณาขอรับการจัดสรรเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จากกระทรวงการคลัง

1.2.3 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัดติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 — 2557 (เพิ่มเติม) ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้รายงานผลการดำเนินงานเป็นรายเดือนต่อคณะรัฐมนตรี

2. สรุปผลการหารือร่วมกับ World Economic Forum เกี่ยวกับการจัดอันดับของไทยในรายงาน Global Competitiveness Report 2010 — 2011 ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานสรุปผลการหารือร่วมกับ World Economic Forum เกี่ยวกับการจัดอันดับของไทยในรายงาน Global Competitiveness Report 2010 — 2011 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.1.1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดให้มีการหารือทางไกล (video conference) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการประเมินจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องข้อมูลสำหรับการจัดอันดับประเทศไทย

2.2 ประเด็นและผลของการหารือ

(1) การปรับลดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 38 ในปี 2010-2011 จากอันดับที่ 36 ในปี 2009 - 2010 มีสาเหตุที่สำคัญดังนี้ 1) การจัดอันดับของไทยในบางเกณฑ์ชี้วัดปรับลดลงอย่างมาก 2) จำนวนประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเพิ่มมากขึ้นจาก 133 ประเทศ เป็น 139 ประเทศ ดังนั้น ในภาพรวมอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยไม่เปลี่ยนแปลง

(2) หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ของ WEF

(2.1) ใช้หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ 2 ลักษณะ ได้แก่ ข้อมูลเชิงประจักษ์ในสัดส่วนร้อยละ 30 ซึ่งมีที่มาจากองค์การระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนร้อยละ 70

(2.2) ข้อมูลเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่ได้จากองค์การระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลแหล่งอื่นๆ ส่งผลทางลบต่อการจัดอันดับของไทย ซึ่งข้อมูลหลายตัวมีข้อผิดพลาด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น ด้านเศรษฐกิจมหภาค เกณฑ์ชี้วัดด้านหนี้สาธารณะ (Indicator 3.05: Government debt) ปรับลดอันดับไทยเป็น 86 (ลดลง 20 อันดับ) ซึ่งข้อมูลสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ WEF ใช้ ในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 49 ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ทางฝ่ายไทยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 45.234 แม้ว่าอ้างอิงจากแหล่งเดียวกัน คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้านการศึกษา เกณฑ์ ชี้วัดด้านการเข้าศึกษาระดับประถม (Indicator 4.10: Primary education enrollment rate) ไทยอยู่ในอันดับที่ 100 (ลดลง 47 อันดับ) โดย WEF ใช้ข้อมูลอัตราการศึกษาระดับประถมของไทยจาก 2 แหล่ง โดยในปี 2550 ใช้ข้อมูลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) อยู่ที่ร้อยละ 95 และในปี 2551 ใช้ข้อมูลจาก ธนาคารโลกอยู่ที่ร้อยละ 89.0707 ซึ่งการเปรียบเทียบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีวิธีการเก็บแตกต่างกันอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความถูกต้องและน่าเชื่อถือลดลง ด้านสาธารณสุข เกณฑ์ชี้วัดด้านการเสียชีวิตของทารก (Indicator 4.07: Infant mortality) ไทยอยู่ที่อันดับ 60 (ลดลง 24 อันดับ) ซึ่งมีการใช้ข้อมูลจากธนาคารโลกอยู่ที่ร้อยละ 13 และได้เปลี่ยนไปใช้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแทน ทำให้ข้อมูลมีความผันผวนในระดับสูง

(3) การประเมินข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า 1) ในบางเกณฑ์ชี้วัด การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการประเมินผลเกณฑ์ชี้วัดแทนการใช้แบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจะทำให้ข้อมูลมีความเที่ยงตรงและชัดเจนกว่า เช่น เกณฑ์ชี้วัดด้านภาระของกระบวนการด้านศุลกากร และเกณฑ์ชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายของนโยบายเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีความยากลำบากที่จะประเมินโดยการสำรวจความคิดเห็น และ 2) จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามมีจำนวนน้อยเกินไป และน่าจะไม่อยู่ในระดับที่จะเป็นตัวแทนความคิดเห็นภาคธุรกิจได้ อาจส่งผลทางลบต่อการประเมินจัดอันดับของไทย โดยไทยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 82 และ 86 ราย ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ แต่ลดลงเหลือเพียง 59 ราย ในปี 2553 (คิดเป็นร้อยละ 0.000087 ของประชากรไทย) ในขณะที่บรูไน เวียดนาม และมาเลเซียมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 111 104 และ 110 ราย ตามลำดับ

2.3 มติที่ประชุม

2.3.1 รับทราบสรุปผลการหารือร่วมกับ World Economic Forum เกี่ยวกับการจัดอันดับของไทยในรายงาน Global Competitiveness Report 2010-2011

2.3.2 มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานด้านข้อมูลสถิติ และประสาน WEF ขอเพิ่มเติมผู้ประสานงานจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของภาคเอกชนกับ WEF

2.3.3 มอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งผลักดันภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WEF ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ