ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (กศส.) ครั้งที่ 1/2553 และรับทราบผลการพิจารณาและมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ รวม 5 เรื่อง ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ดังนี้

1. แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ

2. การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ

3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. ....

4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดมหกรรมระดับระหว่างประเทศ เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการโครงการสร้างองค์ความรู้เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Academy)

5. การขอรับสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์สั้น “สวัสดีประเทศไทย” ภายใต้กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สาระสำคัญของเรื่อง

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ กศส. รายงานว่า ในการประชุม กศส. ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สศช. และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุมฯ ดังกล่าวได้พิจารณาเรื่องต่างๆ รวม 11 เรื่อง ดังนี้

1. แนวทางการดำเนินงานของ กศส.

1.1 สศช. เสนอแนวทางการดำเนินงาน ฯ ดังนี้

1.1.1 กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ควรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน

1.1.2 จัดทำกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติโครงการตามโครงสร้างการดำเนินงานของ กศส.

1.1.3 กำหนดแนวทางและกระบวนการติดตามประเมินผล การดำเนินโครงการของหน่วยงาน

1.1.4 ให้มีการประชุม กศส. เดือนละ 1 ครั้ง

1.1.5 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการและสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (สศส.) หารือร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการและ งบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และนำเสนอ กศส. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

1.2 กศส. มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของ กศส. ตามที่ สศช. เสนอ และให้มีการหารือในรายละเอียดด้านการจัดสรรเงินตามข้อสังเกตของ กค. ไปประกอบการจัดทำนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

2. การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ

2.1 พณ. (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ขอความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (กบศส.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553 (ข้อ 11) ได้แก่ 1) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน 2) นายสัญญา สถิรบุตร เป็นรองประธาน 3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4) นายเผ่าทอง ทองเจือ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5) นางสาวศิริกุล เลากัยกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6) ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ

2.2 กศส. มีมติให้นายสัญญา สถิรบุตร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แห่งชาติ (กบศส.) แทนการเป็นรองประธานฯ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย ทำหน้าที่เป็นรองประธานฯ และให้ สศช. ในฐานะเลขานุการ กศส. หารือกับภาคเอกชนเพื่อสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิอีกหนึ่งท่าน

3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. ....

3.1 สศช. เสนอสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังนี้

3.1.1 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ใน สศช. เพื่อสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

3.1.2 ให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำนวนไม่เกิน 13 คน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ (1) พิจารณาอนุมัติแผนงานและการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (2) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการบริหารเงินกองทุน และ (3) ติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการอุดหนุน

3.2 กศส. มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการหารือกับประธาน กศส. พิจารณาปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่งก่อนนำส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาและ ดำเนินการต่อไป

4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดมหกรรมระดับระหว่างประเทศ เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการโครงการสร้างองค์ความรู้เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Academy)

4.1 พณ. (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ดังนี้

4.1.1 คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ (Thailand International Creative Economy Forum: TICEF) ประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 42 คน จากภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารูปแบบแนวทางการดำเนินงาน การจัดทำแผนงาน และกำกับดูแลการเตรียมการจัดมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ

4.1.2 คณะอนุกรรมการโครงการสร้างองค์ความรู้เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Academy) ประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 23 คน จากภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การผลักดันการต่อยอดองค์ความรู้ แนะนำกระบวนการต่อยอดทางธุรกิจ และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

4.2 กศส. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตามที่พณ.เสนอ

5. การขอรับสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์สั้น “สวัสดีประเทศไทย” ภายใต้กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

5.1 พณ. เสนอขอรับสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์สั้น วงเงิน 40 ล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูภาพลักษณ์และเสริมสร้างบรรยากาศอันดีงามของประเทศ

5.2 กศส. มีมติมอบหมายให้ พณ. ประสานกับภาคเอกชน เพื่อหาแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการด้วยตนเอง และส่งเสริมให้ภาคเอกชนประสานกับรัฐวิสาหกิจที่อาจมีความประสงค์จะให้ความสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์ต่อไป

6. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553

6.1 สศช. เสนอสาระสำคัญของระเบียบ ฯ ดังนี้

6.1.1 กำหนดให้มี กศส. จำนวน 31 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ (1) เสนอแนะการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อคณะรัฐมนตรี (2) เสนอแนะการกำหนดแนวทาง มาตรการเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้บรรลุตามเป้าหมายต่อคณะรัฐมนตรี (3) จัดทำกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (4) จัดทำแผนกลยุทธ์และประชาสัมพันธ์นโยบาย (5) ประสาน ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนกลยุทธ์ฯ (6) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (กบศส.) คณะอนุกรรมการ และคณะที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับขอบเขต วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นการเฉพาะเรื่อง

6.1.2 กำหนดให้มี สศส. เป็นหน่วยงานภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการบริหารและควบคุมดูแลโดยทั่วไป มีอำนาจหน้าที่ (1) เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อ กศส. (2) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรและระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ (3) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเพื่อกลั่นกรองโครงการและงบประมาณ (4) ให้คำปรึกษาแนะนำต่อผู้ประกอบการ (5) ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการตลาด (6) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และ (7) รับผิดชอบงานธุรการของ กศส. และ กบศส. 5) ให้มีคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (กบศส.) ซึ่งแต่งตั้งโดย กศส. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน เพื่อทำหน้าที่

6.1.3 กำหนดให้มี กบศส. แต่งตั้งโดย กศส. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สศส.

6.1.4 สำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนและประโยชน์อื่น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กศส. กบศส. และ สศส. ให้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของ สลน.

6.2 กศส. มีมติรับทราบตามที่ สศช. รายงาน

7. การแต่งตั้งกรรมการใน กศส. และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ

7.1 สศช. รายงาน ดังนี้

7.1.1 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553 (ข้อ 4) กำหนดให้มี กศส. จำนวน 31 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ไม่เกิน 3 คน และ (ข้อ 10) กำหนดให้มี สศส. เป็นหน่วยงานภายใน สลน. สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการบริหารและควบคุมดูแลโดยทั่วไป

7.1.2 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและแต่งตั้งกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศส. ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ได้แก่ (1) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายองอาจ คล้ามไพบูลย์) และ (2) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 3 คน ได้แก่ (1) นางพรศิริ มโนหาญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2) นายอุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และ (3) นายธัญญา ผลอนันต์ นายกสมาคมความคิดสร้างสรรค์ ความจำและการเล่น

7.1.3 สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ในเบื้องต้นเห็นควรแต่งตั้ง นางการดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าภาควิชาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

7.2 กศส. มีมติรับทราบการมอบหมายและแต่งตั้งกรรมการฯ ใน กศส. (ข้อ 7.1.2) ของนายกรัฐมนตรี โดยออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนการแต่งตั้ง (ข้อ 7.1.3) ให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบคุณสมบัติให้ชัดเจนก่อนนำเสนอ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งตามขั้นตอนต่อไป

8. การดำเนินโครงการสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

8.1 สศช. รายงาน ดังนี้

8.1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 พฤษภาคม 2552 ) อนุมัติโครงการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข้ง 2555 โดยมีโครงการในสาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 3,500.70 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 ตุลาคม 2552) อนุมัติโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพิ่มเติมครั้งที่ 2 จำนวน 24 โครงการ งบประมาณ 3,425.23 ล้านบาท

8.1.2 โครงการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 31 โครงการ รวมงบประมาณ 2,368.38 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 1,212.98 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.22 ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร

8.2 กศส. มีมติรับทราบตามที่ สศช. รายงาน

9. ความคืบหน้าการเตรียมการจัดงานมหกรรมระดับระหว่างประเทศ เรื่อง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Thailand International Creative Economy Forum: TICEF)

9.1 พณ. (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) รายงานดังนี้

9.1.1 การประชุม TICEF ใช้ Theme ของงานว่า “GlobaLOCALisation — Local Move, Global Success”กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2553 โดยเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด และเชิญผู้นำองค์กรระหว่างประเทศรวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกร่วมเป็นวิทยากร นอกจากนี้จัดให้มีนิทรรศการต่างๆ มากมาย

9.1.2 งบประมาณจัดงาน TICEF

1) คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กันยายน 2553 และ 25 พฤศจิกายน 2553) ให้ พณ. ปรับแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วมาเพื่อดำเนินการจัดมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติและได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

2) พณ. (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ขอรับการจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 จำนวน 60 ล้านบาท และสำหรับอุดหนุนภาคเอกชนจัดงานเทศกาลนานาชาติ จำนวน 40 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและความเหมาะสมของสำนักงบประมาณ

9.2 กศส. มีมติรับทราบตามที่ พณ. (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) รายงาน

10.ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่าง สศช. และ UNDP เรื่อง Thailand’s National Strategy on Creative Economy

10.1 สศช. รายงาน ดังนี้

10.1.1 โครงการความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เชิงนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพรวม มีระยะเวลาดำเนินงาน 4 เดือน และมีที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก

10.1.2 นิยาม (ยังไม่กำหนด) แต่มีข้อสังเกตในบริบทไทยเกิดขึ้นเมื่อความคิดสร้างสรรค์ได้ถ่ายทอดลงสู่สินค้าและบริการ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีคนเป็นพื้นฐาน ประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก (2) อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อม และ (3) สภาพแวดล้อมของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีปัจจัยบวกได้แก่ การมีเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ การมีองค์กรทางสังคมที่สนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานความรู้ และการปรับโครงสร้างภาคการผลิต

10.2 กศส. มีมติรับทราบตามที่ สศช. รายงาน

11.ข้อเสนอเชิงนโยบาย: การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

11.1 สศช. รายงานด้งนี้

11.1.1 ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะต้องนำไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ของไทย โดยดำเนินงานนำร่องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสูงก่อน

11.1.2 ข้อเสนอเชิงนโยบายของผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รุ่นที่ 1 ได้แก่ 1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริมและเพิ่มสมรถนะงานวิจัยและพัฒนา 2) พัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนาบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งเสริมสร้างสมรรถนะและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ และ 3) สร้างแรงบันดาลใจและสังคมสร้างสรรค์ โดยการกระตุ้นความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั้งระบบ เป็นต้น

11.2 กศส. มีมติรับทราบตามที่ สศช. รายงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ