รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกร

สภาประชาชน 4 ภาค

คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1. กษ. โดย ส.ป.ก. ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร) เป็นประธานกรรมการเห็นชอบให้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินและจัดที่ดินให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2552 ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 75ง วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป

2. ส.ป.ก. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบดังกล่าว และถือปฏิบัติตามแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค สรุปผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 ดังนี้

2.1 ส.ป.ก. ได้ตรวจสอบการมีที่ดินทำกิน การได้รับการจัดสรรที่ดินจากหน่วยงานรัฐแล้วส่งรายชื่อสมาชิกให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก. จังหวัด) จำนวน 20 จังหวัด

2.2 ส.ป.ก. จังหวัดได้ประกาศกำหนดพื้นที่จัดซื้อที่ดินและประกาศให้เสนอขายที่ดินแล้วจำนวน 20 จังหวัด

2.3 รับคำเสนอขายที่ดิน จำนวน 20 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 23,130-2-88 ไร่

2.4 เกษตรกรมาตรวจสอบสิทธิ จำนวน 1,525 ราย ปรากฏว่า สละสิทธิ จำนวน 59 ราย คุณสมบัติไม่ครบ จำนวน 81 ราย มีคุณสมบัติครบ จำนวน 1,385 ราย

2.5 ส.ป.ก. จังหวัดดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบดังกล่าว โดยมีเกษตรกรที่แสดงความประสงค์และพึงพอใจในที่ดินที่มีผู้เสนอขายจำนวน 810 ราย เนื้อที่ประมาณ 11,634-3-63 ไร่

2.6 ส.ป.ก. จังหวัดสามารถดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดซื้อและจัดที่ดินให้เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ให้ความเห็นชอบแผนการจัดซื้อที่ดินแล้ว 20 จังหวัด เกษตรกร 735 ราย เนื้อที่ 10,587-1-03 ไร่ ดังนี้

2.6.1 ที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน

คปจ. เห็นชอบแผนการจัดซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดให้เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค รวม 14 จังหวัด จำนวน 326 ราย เนื้อที่ประมาณ 4,567-1-48 ไร่ โดยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ส.ป.ก. แล้ว 6 จังหวัด เนื้อที่ 1,671-1-59 ไร่ เงิน 80,549,708.54 บาท จัดให้เกษตรกร 116 ราย ซึ่งในจำนวนเกษตรกร 116 รายดังกล่าวนั้นได้จัดทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินกับเกษตรกรแล้ว จำนวน 33 ราย เนื้อที่ 475-0-65 ไร่ จำนวนเงิน 20,676,710.14 บาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการรังวัดสอบเขตแปลงที่ดินตามขั้นตอนการจัดซื้อ

2.6.2 ที่ดินที่ตั้งอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน

คปจ. เห็นชอบแผนการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดให้เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค รวม 11 จังหวัด จำนวน 409 ราย เนื้อที่ประมาณ 6,019-3-55 ไร่ โดย คปก. มีมติอนุมัติกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ต่างๆ เฉพาะพื้นที่ตามหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของกรมที่ดินที่จะดำเนินการจัดซื้อให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้วจำนวน 7 จังหวัด จำนวน 314 ราย เนื้อที่ประมาณ 4,684-1-20 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างนำเสนอ คปก. ทั้งนี้ ส.ป.ก. ยังไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อมาจัดให้แก่เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคได้ เนื่องจากต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่ที่จะจัดซื้อที่ดินเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จึงจะมีอำนาจจัดซื้อที่ดินได้ตามกฎหมาย

3. เนื่องจากความต้องการของสภาประชาชน 4 ภาคที่ให้จัดที่ดินให้เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคเข้าทำกินภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคมีสมาชิกเป็นจำนวนมากถึง 1,889 ราย ที่มีความประสงค์ขอรับการจัดที่ดินกระจายตัวอยู่ในภาคต่างๆ รวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ จำนวนหลายกลุ่ม จึงทำให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบในการดำเนินงาน สามารถนำมาประมวลปัญหาอุปสรรคได้ดังนี้

3.1 ความไม่เป็นเอกภาพของสภาประชาชน 4 ภาค ทำให้เกิดความขัดแย้งในการดำเนินงานด้านต่างๆ แบ่งเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มไม่ให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ตัวแทนสมาชิกเกษตรกรแต่ละจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรอีกฝ่าย/กลุ่ม มีการจัดกลุ่มมวลชนต่อต้านการดำเนินงานของอีกฝ่าย/กลุ่ม

3.2 ที่ดินที่จะดำเนินการจัดซื้อมิได้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อน จึงจะมีอำนาจจัดซื้อตามกฎหมาย

3.3 การรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงที่จะจัดซื้อ เจ้าของที่ดินต้องไปยื่นขอรังวัดสอบเขตที่สำนักงานที่ดินแห่งท้องที่ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีภารกิจมากจึงต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินงานทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกร

3.4 ราคาเสนอขายที่ดินเกินราคาหนึ่งเท่าครึ่งของราคาประเมินที่ดิน และเกินราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงตามความเป็นจริงย้อนหลังไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินฯ ข้อ 13.3 และข้อ 13.4 ไม่มีบทบัญญัติที่จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จำต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกรได้

3.5 สภาประชาชน 4 ภาคได้ทำการจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีรายชื่อตามบัญชีรายชื่อ จำนวน 1,889 ราย ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีมายัง ส.ป.ก. เพื่อขอรับการจัดที่ดินแทนสมาชิกเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคที่ได้รับความช่วยเหลือแต่ยังไม่มารับการตรวจสอบสิทธิ ทำให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัดต้องใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นผู้มีสิทธิที่ได้รับความช่วยเหลือเฉพาะตามบัญชีรายชื่อจำนวน 1,889 ราย ตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

4. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายศุภชัย โพธิ์สุ) เป็นประธาน และมีตัวแทนเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค จำนวน 6 ราย เป็นกรรมการ ได้สรุปหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องในการดำเนินงาน ดังนี้

4.1 กรรมการฝ่ายราชการได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงความสามัคคี ปรองดอง และการประสานประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย/กลุ่ม ในสภาประชาชน 4 ภาค เพื่อลดความขัดแย้ง และเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการจัดที่ดินให้แก่สมาชิก ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ เป็นตัวกลางในการดำเนินงานให้แก่สมาชิกสภาประชาชน 4 ภาค ทุกฝ่าย/กลุ่มด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรมเท่าเทียมกัน (ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรสภาประชาชน 4 ภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552)

4.2 ประสานกระทรวงมหาดไทยแจ้งหน่วยงานในสังกัดพิจารณาให้ความร่วมมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคตามมติคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตลอดจนการรังวัดสอบเขตแปลงที่ดินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว (ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553)

4.3 ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค เฉพาะตามบัญชีรายชื่อ จำนวน 1,889 ราย ตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินรายใหม่ที่ขอให้ไปยื่นคำร้องขอที่ดินทำกินที่ ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและรวบรวมรายชื่อเสนอ ส.ป.ก. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป (ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 และครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553)

4.4 ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดหาที่ดินที่เจ้าของที่ดินมีความประสงค์จะขายที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลักและดำเนินการหาแนวทางแก้ไขในการลดขั้นตอนการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในกรณีที่ดินที่เจ้าของประสงค์จะขายอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติงานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้ กษ. ส่งร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจะจัดซื้อตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดิน และจัดที่ดินให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2552 ให้ สคก. ตรวจพิจารณาไปได้ก่อนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินลดลงสามารถประกาศเขตปฏิรูปที่ดินได้ภายใน 4 — 5 เดือน (ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553)

5. คปก. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินฯ ข้อ 13 โดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้ “ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อที่ดินที่มีราคาสูงกว่าระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดหาที่ดินฯ ข้อ 13.4 แต่ไม่เกินราคาที่ดินต่อไร่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะอนุกรรมการจัดหาฯ และ คปจ. เห็นชอบตามข้อ 15 แล้ว ให้นำเสนอ คปก. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป” ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 94 ง วันที่ 4 สิงหาคม 2553 มีผลบังคับใช้วันที่ 5 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไปแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ