ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 16:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน ครั้งที่ 2/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13.20 — 14.30 น. ณ ห้องประชุม 3202 รัฐสภา โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. การบูรณาการโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช สรุปได้ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

คณะกรรมการ กบพร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 มอบหมาย สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กบพร. จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลานเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สวนสันติพรและอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สศช. ได้จัดประชุมบูรณาการโครงการฯ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้

1) โครงการสวนสันติพรและอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การประกวดแบบโครงการลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปโดยอิสระ โดยการออกแบบในภาพรวมให้คำนึงถึง หลักการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ความกลมกลืนกับโครงการสวนสันติพรและอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม และสถาปัตยกรรมในพื้นที่

2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กับโครงการลานเฉลิมพระเกียรติฯ และโครงการโดยรอบ รวมทั้งการเชื่อมต่อการขนส่งผู้โดยสารทางบกและทางน้ำในบริเวณดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการในพื้นที่ โดยคำนึงถึงหลักการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมในพื้นที่

1.2 มติคณะกรรมการ กบพร.

เห็นชอบผลการประชุมบูรณาการโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ

2. การกำหนดรูปแบบโดยประมาณของอาคารในโครงการลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (Mass Perspective Drawing) สรุปได้ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

1) การจัดทำ Mass Perspective Drawing เพื่อให้เห็นรูปแบบโดยประมาณ ของอาคาร ในที่ดินขนาด 5-1-34.6 ไร่ หรือ 8,538.4 ตร.ม. ภายใต้ข้อกำหนดและกฎกระทรวงควบคุมการก่อสร้างอาคาร ดังนี้ (1) ความสูงอาคาร ไม่เกิน 16 ม. (2) พื้นที่อาคารรวม : พื้นที่ดินไม่เกิน 3 : 1 (3) ที่ว่างภายนอกอาคาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่อาคารรวม (4) ระยะร่น ไม่น้อยกว่า 6.0 ม. ที่ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวก และ (5) ที่จอดรถ ในสัดส่วน 1 คัน ต่อพื้นที่อาคาร 120 ตร.ม.

2) รูปแบบโดยประมาณของลานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีที่มาจากข้อกำหนดในข้อ 1) ผนวกกับความต้องการใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทำให้ได้รูปแบบอาคารโดยประมาณ ดังนี้ (1) พื้นที่โล่ง รวม 4,481.5 ตร.ม. (2) พื้นที่อาคาร รวม 19,937.6 ตร.ม. ประกอบด้วย พื้นที่อาคารใต้ดิน ชั้น 1 และ 2 ชั้นละ 5,468.8 ตร.ม. พื้นที่อาคารบนดิน ชั้น 1 และ 2 ชั้นละ 2,000.0 ตร.ม. ชั้น 3 พื้นที่ 4,000.0 ตร.ม. ชั้น 4 พื้นที่ 1,000.0 ตร.ม. (3) รูปแบบอาคารดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน พื้นที่อาคารคลุมดิน : พื้นที่ดิน = 1 ต่อ 1

2.2 มติคณะกรรมการ กบพร.

1) เห็นควรยึดวัตถุประสงค์ของโครงการลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยกำหนดแนวอาคารไม่ให้เกินจากอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และให้เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

2) มอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำแผนการทำงานของการประกวดแบบ เพื่อกำกับการประกวดแบบให้ เป็นไปตามกำหนด และนำเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน เพื่อทราบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ