ขอความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้าน

การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

2. ให้หน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมตามอำนาจหน้าที่และภารกิจตามกฎหมายของแต่ละหน่วยต่อไป

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอตามรายงานของสำนักงาน ปปง. ว่า

1. สำนักงาน ปปง. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินได้ประสานความร่วมมือทางวิชาการกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในการดำเนินโครงการแผนแม่บทดำเนินการ (Master Implementation Program — MIP) เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจำนวน 2 นาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้แก่ประเทศไทย

2. ตามกรอบแผนแม่บทดำเนินการ สำนักงาน ปปง. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ IMF จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เรื่อง ภาพรวมยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจำนวน 10 ครั้งระหว่างเดือนมกราคม — มิถุนายน 2553 และรวบรวมผลจากการประชุมฯ เป็นข้อมูลประกอบการร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553 — 2558) โดยยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับแผนปฏิบัติการปรับปรุงพัฒนาระบบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย โดยมีแนวทางการวัดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน

3. สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติฯ มีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 8 ด้านเพื่อยกระดับการดำเนินการด้าน AML/CFT ของประเทศไทยดังนี้

3.1 ระบบกฎหมายด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายโดยการพัฒนา ปรับปรุงและบัญญัติกฎหมาย กฎ ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้อง

3.2 ขีดความสามารถและการประสานความร่วมมือ และการดำเนินการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอัยการและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี พิพากษาและลงโทษความผิดฐานฟอกเงิน ความผิดมูลฐาน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการก่อการร้าย

3.3 ขีดความสามารถและการประสานความร่วมมือ และการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของสำนักงาน ปปง. ในการรับ วิเคราะห์และส่งต่อข้อมูลข่าวกรองทางการเงินเพื่อสนับสนุนหน่วยบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินการต่อต้านการฟอกเงิน ความผิดมูลฐาน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการก่อการร้าย

3.4 การปฏิบัติตามมาตรการเชิงป้องกันด้าน AML/CFT ที่มีประสิทธิภาพของสถาบันการเงินและหน่วยธุรกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

3.5 ขีดความสามารถและการประสานความร่วมมือและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเชิงป้องกันด้าน AML/CFT

3.6 ความโปร่งใสของนิติบุคคลและผู้จัดการประโยชน์แทน (เช่น ทรัสต์ องค์กรการกุศลและมูลนิธิ) เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดของอาชญากรและผู้ก่อการร้าย

3.7 ความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างประเทศในการต่อต้านการฟอกเงิน ความผิดมูลฐาน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการก่อการร้าย

3.8 สร้างความตระหนักและการสนับสนุนของสังคมในการต่อต้านการฟอกเงิน ความผิดมูลฐาน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการก่อการร้าย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ