รายงานสรุปผลการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 16:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2553 ถึงปัจจุบันอันเนื่องมาจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อราษฎรในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดที่ประสบภัยมีทั้งสิ้น 39 จังหวัด 413 อำเภอ 3,021 ตำบล 25,725 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 155 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,975,350 ครัวเรือน 6,930,748 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 6,316,156 ไร่

ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 49 อำเภอ 390 ตำบล 2,545 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 206,405 ครัวเรือน 718,031 คน ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี จากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความเสียหาย และทำลายชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านปัจจัยสี่ การขาดแคลนรายได้เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพหลักได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ชำรุดและสูญหาย โรคภัยที่เกิดจากน้ำท่วม และภาวะวิตกกังวล สิ่งที่ผู้ประสบภัย และครอบครัวเผชิญคือความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือส่วนหนึ่งของสังคม ในฐานะองค์กรหลักของภาครัฐที่มีบทบาทภารกิจในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมเสมอภาคในสังคม การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงเข้มแข็งแก่ครอบครัว ชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น เมื่อราษฎรประสบ สาธารณภัยต่าง ๆ กระทรวงจึงจำเป็นต้องให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการฟื้นฟูวิถีชีวิต และชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน จึงได้กำหนดมาตรการแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้ภารกิจของกระทรวง โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการดำเนินงานใน 3 ระยะ คือระยะบรรเทาทุกข์ ระยะฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประสบภัย และระยะป้องกันและเตรียมความพร้อม ดังนี้

1. ระยะบรรเทาทุกข์

1.1 จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือ

  • ใช้กลไกศูนย์ประชาบดี 1300 ทั่วประเทศ เป็นช่องทางการสื่อสาร (War Room) เชื่อมประสานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ แจ้งความต้องการ และประสานส่งต่อการช่วยเหลือไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทีมเข้าร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  • จัดให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งบ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์ รวมถึงศูนย์พัฒนาสังคมจังหวัด ที่มีศักยภาพกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราว
  • พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์ภัย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานข้อมูลพื้นที่ที่ประสบภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปกครองจังหวัด เป็นต้น ตลอดจนสำรวจ รวบรวมข้อมูล และรายงานผล เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทราบเป็นรายวัน จนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
  • การให้ความช่วยเหลือ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค การให้คำปรึกษาแนะนำ และอื่นๆ ที่จำเป็นในภารกิจของกระทรวง

1.2 จัดตั้งชุดอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างทันท่วงที กระทรวงฯ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทำหน้าที่อำนวยการ แนะนำ แก้ไข นิเทศงาน และบูรณาการการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานในสังกัด ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้รวดเร็วทันเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีทุกกรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นที่ปรึกษา และผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นหัวหน้าคณะกรรมการอำนวยการ โดยแบ่งเป็น 6 ชุด ตามพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละเขตตรวจ

1.3 แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการฟื้นฟูความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยเป็นไปอย่างมีระบบ กระทรวงฯ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อทำหน้าที่บูรณาการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ติดตามประเมินผล แนะนำ แก้ไข นิเทศงานแก่หน่วยงานในพื้นที่พื้นที่ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวง (นางนนทินี เพ็ชญไพศิษฏ์) เป็นประธานคณะทำงาน

1.4 แต่งตั้งคณะทำงานชุดปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมชุดปฏิบัติการ ประสานทรัพยากร หน่วยงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูหลังน้ำลดของกระทรวง ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างสุข สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิต รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2. ระยะฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประสบภัย

2.1 จัดทำแผนการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงหลังน้ำลด เพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมศักยภาพให้ผู้ประสบภัย และครอบครัวสามารถกลับไปดำรงชีวิตในภาวะปกติได้โดยเร็ว ภายใต้ภารกิจหลักของกระทรวง และนโยบายที่รัฐบาลได้มอบหมายในการฟื้นฟูช่วยเหลือหลังน้ำลด โดยมีเป้าหมายการทำงาน คือ 3 ส “สร้างสุข สร้างรายได้ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต” ซึ่งเกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำของทุกหน่วยงานของกระทรวง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เริ่มจาก

2.1.1 การสำรวจข้อมูลทางสังคมและคุณภาพชีวิต ซึ่งกระทรวงได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยหัวหน้างาน นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสำรวจปัญหา วางแผนให้การช่วยเหลือ ดำเนินการช่วยเหลือในภาวะเร่งด่วน และประสานการช่วยเหลือ ติดตามรายงานผลการปฏิบัติการในระดับพื้นที่

2.1.2 การสร้างสุขด้วยศาลาสร้างสุขเคลื่อนที่ ซึ่งประกอบด้วย

  • มุมเด็ก : ซึ่งเป็นมุมกิจกรรมที่เน้นการสร้างความสุข สนุกสนาน ความรู้ที่เหมาะสำหรับเด็ก และเป็นจุดในการดูแลเด็กชั่วคราวในช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องไปจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน หรือการประกอบอาชีพ ประกอบด้วยกิจกรรม คาราวานเสริมสร้างเด็ก เกม นันทนาการ ดนตรี หนังสือ
  • มุมผู้สูงอายุและผู้พิการ : นอกจากจะมีกิจกรรมจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ อาทิ นวดประคบสมุนไพร มีอาสาสมัครฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ แล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การเปิดรับซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผู้พิการของศูนย์ฝึกอาชีพฯในสังกัดกระทรวง การให้ผู้สูงอายุได้นำภูมิปัญญา และศักยภาพมาใช้ประโยชน์ เช่นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เด็ก และเยาวชน การถ่ายทอดทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม
  • มุมครอบครัวสัมพันธ์ : เน้นกิจกรรมที่บริการให้แก่คนทุกวัยในครอบครัว และเป็นมุมที่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และมีส่วนช่วยครอบครัวผู้ประสบภัยอื่น เช่นพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผ้าป่าสวนครัว ครัวเพื่อผู้ประสบภัย บริการตัดผม และจุดให้คำปรึกษาแนะนำ ฯลฯ

2.1.3 การสร้างรายได้ด้วยเมนูอาชีพ : เป็นการสร้างอาชีพทดแทนชั่วคราว และการสร้างอาชีพใหม่เพื่อเสริมรายได้ โดยเน้นการฝึกอาชีพระยะสั้น หลักสูตร 1-2 วัน เช่นการทำขนมไทย อาหาร หัตถกรรม จักสาน สกรีนผ้า ซ่อมรองเท้า ฯลฯ หรือหลักสูตร 15 วัน เช่น การเย็บผ้า การทอผ้า ทำผ้าห่ม ฯลฯ รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ และการรวมกลุ่มประกอบอาชีพให้แก่ผู้เข้าอบรม

2.1.4 การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตด้วยภารกิจหลักของกระทรวง : ซึ่งจะมีความหลาหลายตามความต้องการ และสภาพปัญหาของผู้ประสบภัย และเป็นภารกิจของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ/ผู้พิการ การพักชำระหนี้สำหรับเงินกู้คนพิการ (รายใหม่) การช่วยเหลือสงเคราะห์ครอบครัวและเด็ก การช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ การช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ นักเรียน นักศึกษา ในครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต บาดเจ็บหรือพิการ ตามระเบียบเงินทดรองราชการฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึง การสนับสนุนและเชื่อมร้อยจิตอาสาในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเริ่มจากโครงการคาราวานความดีเยาวชน ที่เปิดโอกาสให้สภาเด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีวะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำ Big Cleaning Day และการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออื่นๆตามความสามารถของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา

2.2 จัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ในเบื้องต้นจำนวน 11 จังหวัด โดยดำเนินการภายใต้กิจกรรม 3 สร้าง ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

2.3 ใช้กลไกที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีในจังหวัดและส่วนกลาง โดยเฉพาะศูนย์ประชาบดี 1300 สายด่วนปัญหาทางสังคม 24 ชั่วโมง รับแจ้งเหตุ ให้คำปรึกษา และประสานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์ รับแจ้งเหตุโดยตรง

3. ระยะป้องกันและเตรียมความพร้อม

3.1 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ประสานขอความร่วมมือ อบต.ทุกอบต. จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชุมชน

3.2 อบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) ให้มีความรู้เกี่ยวกับสาธารณภัยในด้านต่างๆ รวมทั้งวิธีการป้องกันภัย ซึ่ง อพม. จะเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุ

3.3 การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย อาทิ บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ ควรปลูกใต้ถุนสูง เป็นต้น

3.4 ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรรับทราบถึงหน่วยงานที่ให้บริการ และรับแจ้งเหตุ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ