รายงานผลการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 16:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีความชัดเจน

โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็ว และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการขออนุมัติใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยการลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ และมาตรการป้องกันการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ประธานกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เสนอ

การดำเนินงาน

ประธานอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อทภ.) รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธีรภัทร สันติเมทนีดล) ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2553 เพื่อพิจารณาเรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็ว โดยศึกษาจากรายละเอียดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่งมี 6 ขั้นตอนใช้ระยะเวลาดำเนินการรวมทั้งสิ้น 80 วัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน กรณีการใช้เงินทดรองราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : การสำรวจความเสียหาย (ใช้ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่เกิดภัย)

ขั้นตอนที่ 2 : นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/กิ่งอำเภอ (ก.ช.ภ.อ./กอ.) (ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 40 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย)

ขั้นตอนที่ 3 : นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) (ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ผ่านการพิจารณาของ ก.ช.ภ.อ./กอ.)

ขั้นตอนที่ 4 : จังหวัดนำเสนอกรม (ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ผ่านการพิจารณาของ ก.ช.ภ.จ.)

ขั้นตอนที่ 5 : กรมนำเสนอกระทรวง (ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากจังหวัด)

ขั้นตอนที่ 6 : ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาอนุมัติเงินทดรองราชการ (ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกรม)

ข้อพิจารณา

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้ว มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีความ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการขออนุมัติใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยการลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ และมาตรการป้องกันการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็ว

1.1 ขั้นตอนที่ 1 : การสำรวจความเสียหาย กรณีภัยพิบัติในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเกือบจะครบทุกพื้นที่แล้ว มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

  • ด้านพืช ประสบภัยทั้งสิ้น 75 จังหวัด สำรวจเสร็จแล้ว 65 จังหวัด สำรวจยังไม่เสร็จ 10 จังหวัด (ภาคใต้)
  • ด้านประมง ประสบภัยทั้งสิ้น 67 จังหวัด สำรวจเสร็จแล้ว 43 จังหวัด (จังหวัดสุโขทัย สุพรรณบุรี นครปฐม รอบ 2 ยังสำรวจไม่เสร็จ) อยู่ระหว่างสำรวจ 27 จังหวัด (ภาคใต้ 12 จังหวัด และภาคอื่น ๆ 15 จังหวัด อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม)
  • ด้านปศุสัตว์ ประสบภัยทั้งสิ้น 54 จังหวัด สำรวจเสร็จแล้ว 22 จังหวัด

ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายเสร็จแล้ว และจังหวัดที่อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ให้นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ไปปรับใช้ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน

ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในขั้นตอนการสำรวจความเสียหายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรสำรวจและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของเกษตรกรไว้ อาทิ รายชื่อและที่อยู่ของเกษตรกร การจำแนกประเภทการเกษตร เช่น ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านเพาะปลูก รายละเอียดชนิดพืชที่ปลูก จำนวนพื้นที่ใช้ทำประโยชน์ ฯลฯ จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลของเกษตรกรไว้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า กรณีนี้เมื่อเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายและประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือแจ้งยืนยันความประสงค์เพื่อขอรับการช่วยเหลือด้วยตนเอง พร้อมลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ตามแบบยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 10) จะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของเกษตรกรในการสำรวจความเสียหายและตรวจสอบความถูกต้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

2) เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้เกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แจ้ง/รับรองข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความเสียหายที่ได้รับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ทราบว่าการแจ้ง/รับรองข้อมูลเท็จ เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายและมีบทลงโทษ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ความผิดฐานฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับและควรมีมาตรการลงโทษผู้แจ้งข้อมูลเท็จ เช่น การขึ้นบัญชีไว้ (Black List) และงดการให้ความช่วยเหลือ

3) ควรใช้ภาพถ่ายดาวเทียม (ภาพถ่ายทางอากาศ) เป็นเครื่องมือช่วยในการสำรวจและตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ได้อย่างเป็นปัจจุบัน

4) การรับรองหรือประเมินความเสียหายโดยบุคคลเพียงคนเดียว อาจได้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและอาจทำให้เกิดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์หรือช่วยเหลือพวกพ้องได้ ดังนั้นควรดำเนินการในรูปของคณะบุคคล เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อความน่าเชื่อถือและความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชัดเจนและเป็นการตรวจสอบความถูกต้องระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง

5) ควรกำหนดให้มีขั้นตอนการทำประชาคมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปิดประกาศผลให้มีผู้คัดค้าน ก่อนที่จะมีการจัดทำ กษ 02 เพื่อเป็นการช่วยคัดกรองข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริงและถูกต้องมากที่สุด ถือเป็นมาตรการในการป้องกันการทุจริตโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเป็นผู้ตรวจสอบกันเอง

1.2 การลดระยะเวลาการดำเนินการ ระหว่างขั้นตอนที่ 2 : นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/กิ่งอำเภอ (ก.ช.ภ.อ./กอ.) และขั้นตอนที่ 3 : นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) โดยเห็นว่าเมื่อได้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการสำรวจความเสียหายเสร็จแล้วให้ ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาคำขออนุมัติงบประมาณ (กษ 02 และ กษ 03) ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ หลังจากนั้นให้จังหวัดรวบรวมข้อมูลนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เป็นการช่วยย่นระยะเวลาการปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. อาจทำให้มีขั้นตอนที่ล่าช้า และเป็นการใช้ดุลยพินิจซ้ำซ้อนกับบุคคลและคณะทำงานในขั้นตอนการสำรวจความเสียหายดังกล่าวมาแล้ว จึงเห็นควรให้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด มีหน้าที่เพียงสอบทานความถูกต้องตามหลักเกณ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรลงไปตรวจสอบในเรื่องข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหายซ้ำซ้อนอีก นอกจากจะมีประเด็นข้อสงสัย หรือเห็นว่าการประเมินความเสียหายไม่สมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริง

1.3 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้เป็นการขออนุมัติใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 14,000 ล้านบาท มิใช่การขออนุมัติใช้เงินทดรองราชการ จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการขออนุมัติเพื่อใช้เงินทดรองราชการตามขั้นตอนที่ 4-6 ซึ่งทำให้สามารถลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาการปฏิบัติการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 40 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย และดำเนินการรวบรวมข้อมูลนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป (เดิมกำหนดใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 80 วัน) และเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการนำเสนอข้อมูลให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแจ้งประสานให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่อไป เช่นเดียวกับกรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เสนอให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

2.1 กรณีที่พบเห็นการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติให้แจ้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลผ่านช่องทาง 1111

2.2 คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อทภ.) ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจสอบการดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ