รายงานผลการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 14:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 กรณีผลการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลร้อยละ 100 ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่มีผลการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีความแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการตรวจสอบข้อมูลร้อยละ 100 ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีผลการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีความแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำรายงานดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

1. คณะอนุกรรมการติดตามผลฯ ในระดับพื้นที่ได้สุ่มตรวจสอบพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุบลราชธานี และเลยแล้ว โดยการนำข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลพื้นที่จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลทางกายภาพในพื้นที่มาเทียบเคียงรวมทั้งสุ่มตรวจสอบพื้นที่และสอบถามเกษตรกรซึ่งพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่การแปลพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมระบุว่า ไม่มีการเพาะปลูกในพื้นที่ แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว ปรากฏว่ามีการขึ้นทะเบียนและมีการเพาะปลูกจริง และในตำบลลุมพุก อำเภอ คำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร การแปลพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมระบุว่าสภาพพื้นที่บางส่วนที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถทำนาได้ แต่เกษตรกรในพื้นที่ยืนยันว่าไม่ได้มีการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าว และในเดือนเมษายน 2553 ไม่ได้มีภาพถ่ายมาเปรียบเทียบยืนยันอีกครั้งเนื่องจากสภาพอากาศมีเมฆมาก จึงคำนวณตามที่คาดคะเนไว้ในพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าบางพื้นที่มีการเพาะปลูกโดยอาศัยน้ำจากโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามาใช้ในการทำนาปรังและในบางพื้นที่ เช่น ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนตามเอกสารสิทธิ์ แต่เมื่อทำการเพาะปลูกจริงเกษตรกรเพาะปลูกน้อยกว่าที่แจ้งขึ้นทะเบียน เนื่องจากประสบภัยแล้งหรือมีโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งได้มีการปรับข้อมูลดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่สามารถประมวลข้อค้นพบและสาเหตุของการคลาดเคลื่อนที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับข้อมูลการแปลพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม ดังนี้

1.1 พื้นที่เพาะปลูกอาจจะคลาดเคลื่อนเมื่อนำภาพถ่ายดาวเทียมมาครอบกับแผนที่ขอบเขตจังหวัด อำเภอ ตำบล ของกรมการปกครอง ซึ่งแนวเขตที่แสดงขอบเขตการปกครองระดับตำบลตามข้อมูลแผนที่ในรูปแบบ GIS ไม่ตรงกับขอบเขตการปกครองของประชาชนในพื้นที่ที่กำหนดสำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง จากการยึดถือขอบเขตการปกครองระดับตำบล จากแผนที่ และจากชาวบ้าน ในบางพื้นที่ไม่ตรงกัน ทำให้การคำนวณเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังในระดับตำบลตามเขตการปกครองไม่ตรงกับเนื้อที่การปลูกข้าวนาปรังจากการขึ้นทะเบียน ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธร

1.2 ช่วงระยะเวลาการถ่ายภาพมีเมฆปกคลุมทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาแปลผลพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังได้ครบถ้วน และการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรไม่ตรงตามฤดูกาลผลิต จากการสุ่มสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยเครื่องหาพิกัด (GPS) มีการปลูกข้าวนาปรังจริง แต่ไม่มีข้อมูลจากการแปลภาพถ่ายเนื่องจากเกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวตามปริมาณน้ำที่ส่งเข้ามาในพื้นที่หรือที่มีการสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกโดยเริ่มจากตำบลที่อยู่ต้นน้ำ ในหลายพื้นที่ได้รับน้ำจากคลองส่งน้ำล่าช้าทำให้เกษตรกรต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปรังออกไปโดยเริ่มปลูกประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2553 (ในขณะที่มีการบันทึกภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างเดือนธันวาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553) ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี ศรีสะเกษ ขอนแก่น มุกดาหาร สกลนคร ชัยภูมิ อุบลราชธานี และยโสธร ส่วนพื้นที่จังหวัดเลยสภาพพื้นที่เป็นหุบเขาและเนินเขา จึงทำให้การแปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียมมีความคลาดเคลื่อน

1.3 ลักษณะพื้นที่ของเกษตรกรบางรายมีการปลูกข้าวแปลงละประมาณ 3 — 10 ไร่ และมีแปลงพืชชนิดอื่นรอบพื้นที่ปลูกข้าว การเพาะปลูกของเกษตรกรมีลักษณะเป็นวงกว้างและกระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะไม่สามารถจำแนกข้อมูลพืชแต่ละชนิดได้ทั้งหมด ทำให้การแปลตีความภาพถ่ายดาวเทียมมีความคลาดเคลื่อนได้ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร อุบลราชธานี และยโสธร

2. คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ได้นำผลการแปลข้อมูลพื้นที่การปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 จากภาพถ่ายดาวเทียมทั้งประเทศ ซึ่งมีพื้นที่รวม 14,862,030 ไร่ มาเปรียบเทียบกับพื้นที่การขึ้นทะเบียน ผ่านประชาคม และออกใบรับรองแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2553 ซึ่งมีพื้นที่รวม 16,586,976 ไร่ พบว่า มีความแตกต่างกัน จำนวน 1,724,946 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.39 ของผลการขึ้นทะเบียน ผ่านประชาคม และออกใบรับรองแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ มีความเห็นว่า ข้อมูลการแปลพื้นที่เพาะปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรและในการสอบทานพื้นที่เพาะปลูกที่มีการขึ้นทะเบียนและทำประชาคม ดังนั้น ในการดำเนินโครงการประกันรายได้รอบต่อไป หากมีนโยบายในการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสอบทานการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ควรให้มีการเร่งดำเนินการและนำสาเหตุที่เป็นปัจจัยที่อาจทำให้ข้อมูลเกิดความคลาดเคลื่อนมาพิจารณาในการแปลผล และเร่งจัดส่งให้แก่จังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีหน้าที่สอบทานในเรื่องดังกล่าวให้ทันช่วงระยะเวลาการจัดทำประชาคม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน หรืออาจจะนำผลการแปลพื้นที่เพาะปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ โดยเจาะลงไปในบางพื้นที่ที่ต้องการสุ่มตรวจสอบ หรือมีข้อสงสัยเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการในการลงไปสอบทานในพื้นที่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ