คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์คุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ตลอดจนสุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ มิได้มีบทบัญญัติในเชิงปฏิบัติการ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์เพื่อรองรับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ ในทางปฏิบัติ
2. การดำเนินการเพื่อให้บรรลุภารกิจการคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์จำเป็นต้องมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย และมีมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สถานบริการ ให้มีการจัดบริการและให้การปรึกษาด้านอนามัยเจริญพันธุ์อย่างบูรณาการ ทั่วถึง และมีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลัก วิชาการ ทั้งนี้ โดยให้ครอบคลุมทุกระดับ รวมทั้งต้องอนุวัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนถือปฏิบัติ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
3. ในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1. ได้จัดให้มีการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง และได้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา และสถานศึกษาพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจัดให้มีการปรึกษาหรือบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การสอนเพศศึกษา และผู้ให้การปรึกษาและบริการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 7 ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 13)
2. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการที่หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา และนายจ้างภาคเอกชน ต้องปฏิบัติต่อหญิง มีครรภ์ ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน หรืออยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษา (ร่างมาตรา 9 ถึง ร่างมาตรา 12)
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 17)
4. กำหนดให้กรมอนามัยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 20)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--