แหล่งเงินทุนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 14:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการให้โรงงานยาสูบใช้แหล่งเงินลงทุนจากเงินรายได้ของโรงงานยาสูบในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการลดอัตราการนำส่งรายได้แผ่นดินของโรงงานยาสูบจากอัตราที่กำหนดไว้เดิม คือ ร้อยละ 88 ของกำไรสุทธิ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างแผนการลงทุนกับผลประกอบการจริงของโรงงานยาสูบ โดยเริ่มจากการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เป็นต้นไป

2. อนุมัติหลักการการปรับแผนการดำเนินการโครงการฯ โดยยังคงเป้าหมายวงเงินลงทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้เดิม (25 ธันวาคม 2550) ตามที่โรงงานยาสูบเสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ว่า

1. คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบอนุมัติการจัดซื้อที่ดินบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดจ้างผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และจัดจ้างผู้รับเหมาเตรียมพื้นที่ก่อสร้างวงเงินการดำเนินงานแล้วทั้งสิ้น 877.12 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 679.11 ล้านบาท (โดยใช้แหล่งเงินจากเงินนำส่งรัฐที่กันไว้แล้วจำนวน 6,850 บาท)

2. โรงงานยาสูบได้พิจารณาแนวทางการใช้แหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากการนำเงินส่งรัฐแล้วพบว่า มีข้อจำกัดหลายประการสามารถสรุปได้ดังนี้

2.1 โรงงานยาสูบยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถดำเนินการกู้เงินได้เองการกู้เงินต้องดำเนินการผ่าน กค.

2.2 การขออนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินดำเนินการได้ค่อนข้างยากเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่มีความไม่แน่นอน และมีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ประกอบกับสถาบันการเงินบางแห่งมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน อาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากสาธารณชน รวมถึงจะมีภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ ทั้งส่วนแบ่งทางการตลาดและราคาขาย ซึ่งหลังจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่มีข้อตกลงให้ประเทศสมาชิก เช่น ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลดการจัดเก็บภาษีนำเข้าใบยาสูบและผลิตภัณฑ์ทุกประเภทเป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ทำให้ระดับราคาขายปลีกบุหรี่ต่างประเทศลดต่ำลง แนวโน้มการนำเข้าบุหรี่จากอาเซียนขยายตัว และตลาดบุหรี่ในประเทศมีการแข่งขันสูงขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ