โครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 14:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและแนวทางการดำเนินการโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า โครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) มีรายละเอียด ดังนี้

สาระสำคัญของโครงการ

1. วัตถุประสงค์

1.1 เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรอาสาสมัครในการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการทางการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือนของครอบครัวและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเกษตรกรซึ่งใช้บริการหนี้นอกระบบได้อย่างเหมาะสม

1.2 เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรอาสาสมัครในการทำหน้าที่เป็นคนกลางในการสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร และเอื้ออำนวยให้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มเกษตรกร และคนยากจน สามารถเข้าถึงและใช้บริการของสถาบันการเงินในระบบ

1.3 เพื่อเป็นกลไกในการฟื้นฟูและเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านการออม ซึ่งจะช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2. บทบาทหน้าที่หลักของอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน

2.1 ให้คำปรึกษาแนะนำรวมถึงช่วยวางแผนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและปัญหาหนี้นอกระบบของคนในชุมชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ การบริหารจัดการเงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการให้ความรู้ในการจัดทำ “บัญชีครัวเรือน”

2.2 เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนในชุมชน รวมถึงสถาบันการเงินให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส และผู้ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบและเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างชุมชนกับองค์กรภาครัฐและสถาบันการเงิน

3. สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ

3.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเป้าหมายที่จะสร้างอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) จำนวน 26,000 ราย ในปี 2554

3.2 ธนาคารออมสิน มีเป้าหมายที่จะสร้างอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) จำนวน 62,000 ราย ในปี 2554

4. แนวทางในการดำเนินงาน

4.1 สถาบันการเงินเฉพาะกิจทำการคัดเลือกอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) จากกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเป็นหมอหนี้ เช่น ผู้นำชุมชนหรือผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้านให้การยอมรับนับถือ เครือข่ายเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.

4.2 ให้การฝึกอบรมให้ความรู้และศึกษาดูงานในเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสภาพเศรษฐกิจ สังคมปัจจุบัน และความรู้เฉพาะด้าน เพื่อสามารถทำหน้าที่อาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เทคนิคการแก้ไขปัญหาด้านการเงิน เป็นต้น

4.3 ให้มีการกำกับ ติดตาม ดูแล และประเมินผลการทำหน้าที่ของอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) และให้ธนาคารรับฟังปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของหมอหนี้เป็นประจำเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ