แผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2555 — 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ให้มีการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามแผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการพัฒนางานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2555 — 2559 อันประกอบด้วย 6 กลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

1.1 ปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในหน่วยงานที่เลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับการขยายตัวทางการวิจัย การทดสอบ การผลิตชีววัตถุ ทั้งทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการเกษตร

1.2 สนับสนุนให้มีการผลิตและบริการสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพพันธุกรรมและคุณภาพสุขภาพ หลากหลายชนิด สายพันธุ์ และจำนวนได้พอเพียงตามความต้องการของผู้ใช้ ในทุกรูปแบบเพื่อรองรับการขยายตัวทางการวิจัย การทดสอบและการผลิตชีววัตถุ

1.3 พัฒนาบุคลากรและพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งเนื้อหาสาระวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานสากล

1.4 สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาความหลากหลายของพืช สัตว์ และวัสดุท้องถิ่น เป็นวัสดุเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ และเป็น animal model สำหรับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคประจำท้องถิ่นและโรคอุบัติใหม่

1.5 ส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนสนใจผลิตสินค้าเพื่อการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ หรือนำสินค้าที่ได้มาตรฐานคุณภาพมาบริหารให้มากขึ้น และส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมยา อาหาร อาหารเสริม และวัคซีน ที่ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แข่งขันได้กับนานาชาติ ลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก

1.6 กำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การส่งเสริมการใช้วิธีการอื่นทดแทนการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับสากล รวมทั้งการประสานงานกับนานาชาติเพื่อการยอมรับของสากล

2. เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงสัตว์และใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และมอบหมายให้รับผิดชอบกำกับดูแลการพัฒนางานตามแผนกลยุทธ์แห่งชาติฯ และพิจารณาแผนพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่สำนักงบประมาณในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีแก่หน่วยงานต่างๆ ที่เสนอแผนพัฒนางานฯ และเสนอขอตั้งงบประมาณ และติดตามประเมินผลการพัฒนางานฯ ของหน่วยงานต่างๆ โดยมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานดำเนินการ

3. ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำกรอบกลยุทธ์แห่งชาตินี้ผนวกเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รายงานว่า

1. จากมติคณะรัฐมนตรี (19 มีนาคม 2545, 17 มิถุนายน 2545, 6 มีนาคม 2550) คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการบริหารจัดการและกำกับให้หน่วยงานต่างๆที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลอง ดำเนินการพัฒนางานสัตว์ทดลองให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์ทดลอง ดังกล่าว โดยมีสำนักงานเลขานุการคระกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยดำเนินการ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยมีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์

2. จากการดำเนินงานดังกล่าวมีผลเกิดขึ้น ดังนี้

2.1 หน่วยงานและสถาบันที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการตื่นตัวที่จะปรับตัวให้เข้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อให้ได้รับการยอมรับ จากเดิมที่หน่วยงานต่างๆไม่มีการจัดทำแผนพัฒนางานสัตว์ทดลองมาก่อน ก็ได้มีการจัดทำแผนพัฒนางานสัตว์ทดลองขึ้น

2.2 จากการสำรวจหน่วยงานเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองของรัฐทั่วประเทศ พบว่า มีหน่วยงานเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองประมาณ 72 แห่ง ในจำนวนนี้ มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไปเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงอาคารใหม่ ประมาณ 33 แห่ง แต่โดยส่วนใหญ่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังต้องการงบประมาณต่อไปอีกจึงจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะเข้าไปปฏิบัติงานได้ มีเพียง 2 หน่วย คือศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่พร้อมจะเปิดใช้ปฏิบัติงานได้ในเดือนพฤศจิกายน 2553 และในปี 2554 ตามลำดับ

2.3 ในการผลิตและบริการสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานคุณภาพพันธุกรรมและคุณภาพสุขภาพนั้น ประเทศไทยมีแหล่งผลิตสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานคุณภาพพันธุกรรมและคุณภาพสุขภาพระดับหนึ่ง เพื่อให้บริการแก่นักวิจัยทั่วประเทศ เพียงแห่งเดียวคือ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้บริการ สัตว์ทดลองบางชนิดได้อย่างพอเพียง แต่ยังไม่สามารถผลิตและบริการสัตว์อีกหลายชนิดและสายพันธุ์เพื่อตอบสนองลักษณะงานวิจัยที่หลากหลายได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาตินี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุง และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อขอรับรองมาตรฐานจาก the Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International ต่อไป

2.4 การพัฒนางานสัตว์ทดลองตามแผนกลยุทธ์นี้ ได้ดึงดูดให้ภาคธุรกิจ เอกชน สนใจที่จะลงทุนทำการผลิตสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้บริการทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งมีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานมาแนะนำให้ความรู้และให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคเอกชนได้อย่างหลากหลาย

ภาคธุรกิจเอกชน ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดนิทรรศการ การแสดงสินค้า ระดับชาติและระดับนานาชาติมีความสนใจที่จะจัดหา หรือผลิต วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ มาให้บริการได้หลากหลายมากขึ้น

2.5 ในการพัฒนาบุคลากรคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในระยะสั้น ด้วยการจัดอบรมสร้างกลุ่มวิทยากรเพื่อการอบรม การสอน โดยใช้วิทยากรชาวต่างประเทศ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ชำนาญการด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง มาอบรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลอง มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วประมาณ 60 คน และมีการจัดทำห้องสมุดวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง รวบรวมหนังสือ วารสารที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง ที่หาได้ยากในประเทศไทย ให้บริการแก่ผู้ที่สนใจ

ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง เพื่อการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับ อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และบัณฑิตศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกระดับได้นำไปใช้ในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้วิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง

2.6 องค์กรต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดการประชุมนานาชาติและการแสดงสินค้าขึ้นในประเทศไทย แม้ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ รวมทั้งการให้ความร่วมมือติดต่อประสานงานสถานที่ศึกษาดูงานและการพัฒนางานสัตว์ทดลองให้ได้มาตรฐานสากล

2.7 ในการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลอง เกือบทุกหน่วยงานที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ มีคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์ สภาวิจัยแห่งชาติ มีการร่างพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนและเยาวชนได้มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณ ต้องไม่ทำให้สัตว์ต้องเจ็บปวด ทรมาน หรือเสียชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์

แม้ว่างานสัตว์ทดลองจะมีความก้าวหน้าขึ้น ดังที่กล่าวมา หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมีการตื่นตัวกันมากขึ้น แต่การพัฒนายังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ที่จะให้ได้มาซึ่งอาคารเลี้ยงสัตว์พร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นให้สมบูรณ์เพียงพอต่อการดำเนินการเลี้ยงและใช้สัตว์ให้ได้ระดับมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์แห่งชาติฯ (2550- 2554) คือ 3 ปีหลังจากได้รับงบประมาณ การพัฒนางานยังไม่ถึงระดับที่จะนำไปสู่เป้าหมาย คือมีอาคารสถานที่วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผลงานจากการเลี้ยงและใช้สัตว์ในงานวิทยาศาสตร์มีความแม่นยำ เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับของสากล แข่งขันได้กับนานาชาติ ปลอดภัยต่อการนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมานี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้สมบูรณ์เนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ 1) หน่วยงานที่มีการเลี้ยงและใช้สัตว์หลายแห่งยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำแผนพัฒนางานสัตว์ทดลองหรืองานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน และยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับความสำคัญไว้ในอันดับต้นๆในการขอตั้งงบประมาณแต่ละปี 2) งบประมาณที่ได้รับเพื่อการก่อสร้างและการจัดซื้อครุภัณฑ์ ไม่พอเพียงและไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย 3 ปีที่วางไว้ 3) การผลิตและบริการสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพ ยังไม่มีความหลากหลายทั้งชนิดและสายพันธุ์สัตว์ทดลอง รวมทั้งปริมาณให้ได้เพียงพอสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ 4) การผลิตบุคลากร โดยเฉพาะสัตวแพทย์ ผู้ชำนาญการสัตว์ทดลอง และพนักงานเลี้ยงสัตว์ ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาสาระวิชาที่ชัดเจน เพื่อการผลิตบุคลากรดังกล่าวอย่างจริงจัง การพัฒนาบุคลากรยังต้องมีการพัฒนาทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน 5) ยังไม่มีสถาบันใดให้การสนับสนุนการวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่หลากหลายในประเทศ ให้เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์ และการวิจัยเกี่ยวกับโรคในภูมิภาคเขตร้อนชื้น เป็นต้น 6) ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า ยา อาหารเสริม และวัคซีนปีหนึ่งๆเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนที่ผลิตเองภายในประเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานและมีการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ในการนำมาใช้ทดสอบตามมาตรฐานสากล ในการวิจัยพัฒนาและผลิตยา วัคซีน ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเช่นที่ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือปฏิบัติยา 7) การกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ นั้นยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานที่ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ต้องมีการพัฒนาองค์กรกลาง (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานสัตว์เพื่องานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์, สลช.) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง การสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศให้สมบูรณ์ มีการดำเนินการให้มีกฎหมายบังคับใช้ รวมทั้งการดำเนินการให้มีการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อการยอมรับและแข่งขันได้กับนานาชาติ

3. วช. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์แล้วมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ