ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงพาณิชย์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงพาณิชย์) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ตามที่เวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ร่วมในคณะผู้แทนไทยด้วย นั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานสรุปผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 5

1.1 ที่ประชุม ฯ ได้รับทราบสถานะการดำเนินการตาม AEC Scorecard ซึ่งเป็นกลไกในการประเมินผลการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint

1.2 ที่ประชุม ฯ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง Scorecard เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวัดผลการดำเนินงานของอาเซียน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการประเมินผลให้มีการวัดผลเป็นระดับ อาจแสดงด้วยสีแดง เหลือง เขียว เพื่อให้ทราบว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่ได้ดำเนินการเลย หรือดำเนินการไปแล้วบ้าง หรือ ดำเนินการเสร็จแล้ว ตามลำดับ

1.3 การที่อาเซียนมอบหมายให้ ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุง AEC Scorecard นั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แสดงข้อคิดเห็นว่า อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากมีเรื่องต้องศึกษามาก จึงเสนอให้อาเซียนจัดตั้งสถาบันเพิ่มเติมในแต่ละประเทศ โดยอาจจัดตั้ง ASEAN University Network เพื่อช่วยศึกษาด้วย นอกจากนี้ อินโดนีเซียเห็นว่า นอกจาก ERIA แล้ว อาจให้สถาบันของแต่ละประเทศและสถาบันระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการทำการศึกษาดังกล่าวด้วย ที่ประชุมมีมติให้อาเซียนพิจารณาการจัดสรรเงินทุนให้ ERIA เพื่อให้ ERIA สามารถดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการของอาเซียนได้มากขึ้น

1.4 ในส่วนมาตรการที่ต้องดำเนินการในช่วงปี 2010-2011 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2010 ได้ดำเนินการแล้วประมาณร้อยละ 60 ของมาตรการที่ต้องดำเนินการทั้งหมด ที่ประชุมฯ เห็นว่าการดำเนินการ ไม่ควรพิจารณาเพียงว่าจะทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) เท่านั้น แต่ควรพิจารณาผลการดำเนินการดังกล่าว ว่าจะส่งผลในทางปฏิบัติอย่างไรต่ออุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่างๆ ที่ประชุมฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของไทยในการให้แต่ละประเทศจัดทำ Action Plan สำหรับมาตรการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และให้สำนักเลขาธิการอาเซียนติดตามผลต่อไป

1.5 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอว่า เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความล่าช้าของการดำเนินการสำหรับการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ เนื่องจากเป็นสาขาที่มีความอ่อนไหวสำหรับอาเซียนทุกประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าใจ โดยประชาสัมพันธ์ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เช่น การจัด Workshop เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) เห็นประโยชน์ของการเปิดเสรีการค้าภาคบริการในอาเซียน โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติให้มีการรายงานความคืบหน้าด้านการเปิดเสรีการค้าบริการต่อที่ประชุม AEC Council ในครั้งต่อไป

1.6 ที่ประชุมฯ มีมติให้ประธานการประชุมอธิบดีศุลกากรรายงานต่อที่ประชุม AEC Council เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานด้านศุลกากรอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้มีการรายงานครั้งต่อไปในการประชุม AEC Council ในเดือนตุลาคม 2554 รวมทั้งให้เร่งดำเนินการจัดตั้ง ASEAN Single Wingdow (ASW) และNational Single Window (NSW) และให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานกรมศุลกากรอาเซียนกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมโครงการนำร่อง ASEAN Single Window และให้นำเรื่องการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านศุลกากร (Capacity Building) หารือในคณะทำงานอาเซียนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบอาเซียนบวก 3/บวก 6

1.7 ที่ประชุมรับทราบตาราง Matrix เกี่ยวกับปัญหาที่ภาคเอกชน (เช่นจาก ASEAN Business Advisory Council, US Business Council) ร้องเรียนมา อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังไม่มีความชัดเจนในวิธีการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศที่อาจต้องมีการแก้ไข และให้หารือในการประชุมครั้งต่อไป

1.8 ที่ประชุม AEC Council ได้จัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อผู้นำ โดยสรุปผลดำเนินการที่สำคัญตาม AEC Blueprint ในช่วงปี 2008-2009 และได้มีข้อเสนอแนะต่อผู้นำให้สั่งการรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ

2. การลงนามเอกสารสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในเอกสารด้านเศรษฐกิจ 3 ฉบับ ดังนี้

2.1 พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าบริการ (the 8th ASEAN Framework Agreement on Services Protocol)

2.2 พิธีสารแก้ไขพิธีสารเรื่องข้าวและน้ำตาล (Protocol to Amend the Protocol to Provide Special Consideration for Rice and Sugar)

2.3 พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 2 (Protocol to Amend the 2nd Package of Specific Commitments under the Agreement on Trade in Goods of the Framework on Comprehensive Economic Co-operation between ASEAN and China)

3. การหารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม ในระหว่างการประชุมฯ ดังกล่าวด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ