การจัดทำความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:44 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์

ข้อเสนอของส่วนราชการ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำและการลงนามความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์ และให้สามารถแก้ไขความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีก

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้ลงนามความตกลงฯ

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้กับผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า

1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลมัลดีฟส์เห็นพ้องกันที่จะทำความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (Comprehensive Framework Agreement for Cooperation between the Kingdom of Thailand and the Republic of Maldives) โดยทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมัลดีฟส์ได้เห็นชอบร่วมกันต่อร่างความตกลงฯ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 และเห็นพ้องที่จะให้มีการลงนามความตกลงฯ ในโอกาสแรกหากมีการเยือนในระดับสูงในอนาคต

2. ความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อวางกรอบในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ให้แน่นแฟ้น มากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของรัฐบาลไทย ที่ต้องการขยายบทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ทั้งนี้ ความตกลงฯ มีเนื้อหาครอบคลุมความร่วมมือ 11 สาขา ได้แก่ เศรษฐกิจและการลงทุน ความร่วมมือด้านวิชาการ สาธารณสุข การเกษตรและการประมง ศิลปะและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การบินพลเรือน การศึกษา ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและความร่วมมือด้านกงสุล ซึ่งภาคีจะหารือกับความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ โดยจะบรรลุความตกลงดังกล่าวเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3. เนื้อหาของความตกลงฯ ระบุถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ ในกรอบกว้าง อาทิ เศรษฐกิจและการลงทุน การเกษตรและการประมง ศิลปะและวัฒนธรรม ความตกลงดังกล่าวจึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับ โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาร่างความตกลงฯ ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ที่จะต้องขอรับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ