เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลง (Protocol to Amend the Agreement) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ
ด้านประมง ระหว่างไทย — นอร์เวย์
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้จัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลง (Protocol to Amend the Agreement) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านประมง ระหว่างสำนักงานความร่วมมือในการพัฒนาแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ และกรมประมงแห่งราชอาณาจักรไทย ตามร่างที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีการแก้ไขร่างพิธีสารในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ
3. อนุมัติให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้ลงนามพิธีสารฯ
4. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้อธิบดีกรมประมงในการลงนามพิธีสารฯ
ข้อเท็จจริง
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงร่วมกับหน่วยงาน Norwegian Agency for Development Cooperation (Norad) แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ได้ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการไทย-นอร์เวย์ โครงการ Post — Tsunami Assessment of the Living Marine Resources and Development of a Strategic Plan of Sustainable Marine Fish farming โดยมีการลงนามความตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่า การพัฒนาด้านวิชาการจะสามารถให้ประโยชน์แก่ชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย และโครงการฯ ได้สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2549
2. หลังจากโครงการความร่วมมือดังกล่าวสิ้นสุดลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ Norad แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์เห็นว่า โครงการฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางวิชาการ จึงเห็นควรดำเนินโครงการต่อในระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการประมงของไทย จึงได้ลงนามความตกลงดำเนินโครงการ Development of Marine and Assessment of Fisheries Resource in Andaman Sea, Thailand ในเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2549 — 2552) และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการพัฒนาวิชาการทั้งด้านการประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจากนอร์เวย์
3. ผลการดำเนินความร่วมมือที่ผ่านมากรมประมงเห็นว่า เทคนิคการเลี้ยงปลาในกระชัง ขนาดใหญ่ควรมีการปรับปรุง เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนและเผยแพร่เทคโนโลยีให้เกษตรกรนำไปใช้ได้ ดังนั้น จึงเสนอโครงการ Development of Aquaculture and Governance for a Sustainable Utilization of Thai sea water 2010 — 2014 เพื่อเป็นการขยายความตกลงของโครงการระยะที่ 2 เป็นระยะเวลา 2 ปี (2553 — 2554) และรองรับกิจกรรมใหม่ที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในปี 2553 — 2557 ให้ฝ่ายนอร์เวย์พิจารณา ซึ่ง Norad ยินดีสนับสนุนโครงการฯ และจะจัดทำความตกลงร่วมกัน
4. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ด้านประมง รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงเห็นควรจัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลงฯ โดยมีสาระสำคัญคือ Norad จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลมาปรับใช้ในประเทศไทย อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการฯ ภายหลังจากที่มีการลงนามความตกลงร่วมกันแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--